กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับเพิ่มชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน จากเดิม 32 โรคเป็น 80 โรค เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานมากมาย ดังนั้น เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่ระสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมจึงได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ฉบับลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538 เพื่อให้สอดคล้อง เหมาะสมกับบัญชีรายชื่อโรคจากการทำงานตามข้อแนะนำ ฉบับที่ 194 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยปรับเพิ่มชนิดของโรคจากเดิม 32 โรคเป็น 80 โรค โดยกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานตามประกาศของกระทรวงแรงงาน เช่น โรคหูตึงจากเสียง โรคติดเชื้อหรือโรคปรสิตเนื่องจากการทำงาน โรคหืดจากการทำงาน โรคปอดจากโลหะหนัก โรคด่างขาวจากการทำงาน เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญของลูกจ้างทุกคน และพร้อมที่จะให้การดูแล ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และถือว่าการให้คุ้มครองดูแลเป็นส่วนหนึ่งในการให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด หรือสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม โทร.0-2956-2725-7 หรือสายด่วน 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ