กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--บาทฟินเทค
นายศักดา เกตุแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาทฟินเทค เปิดเผยว่า จากยอดการเติบโตของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ชในประเทศไทย ที่มีสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหลอกลวงมากกว่า 30% ของยอดอีคอมเมิร์ชในช่วงที่ผ่านมา จนกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง เนื่องเพราะการซื้อขายส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไมโครเพย์เม้นท์ หรือยอดซื้อขายจำนวนน้อยไม่คุ้มค่ากับการฟ้องร้องหรือเอาผิดทางกฎหมาย โดยบริษัทได้คิดค้นระบบเงินดิจิทัลที่ปกป้องการซื้อขายออนไลน์ให้มีความปลอดภัยขึ้นมา
ระบบของบริษัท จะทำให้ผู้ซื้อผู้ขายได้ใช้จ่ายผ่าน "ไทยบาทดิจิทัล" เมื่อผู้ซื้อโอนเงินไปที่ผู้ขายผ่านระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล ระบบเงินจะถูกลด-เพิ่มจากบัญชี โดยบัญชีผู้ซื้อจะถูกตัด และขึ้นสถานะรอการยืนยันที่บัญชีผู้ขาย เช่นเดียวกับระบบเช็ครอการเคลียริ่ง เมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าตรงตามที่ตกลงกับผู้ขาย เงินไทยบาทดิจิทัลจะเข้าบัญชีผู้ขายโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดทำให้การซื้อขายไม่สมบูรณ์ ระบบก็ะทำการคืนเงินให้กับผู้ซื้อโดยอัตโนมัติ
"ระบบนี้จะดีกว่าการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต visa master card หรือ paypal แม้บัตรเครดิตผู้ซื้อจะนิยมเพราะได้สะสมแต้ม และสิทธิพิเศษอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันกับมีการหักเงินฝั่งผู้ขาย 2-6% ในทุกธุรกรรม ซึ่งบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ส่วนแบ่ง 4% และให้คืนผู้ใช้บัตร 1% ซึ่งการซื้อของออนไลน์แบบบุคคลทั่วไปจะไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากสินค้าออนไลน์เป็นตลาดที่แข่งขันสูง กำไรต่ำ ส่วนใหญ่รับด้วยเงินสดหรือโอนเงิน ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากของผู้ซื้อ แต่ขณะเดียวกันไทยบาทดิจิทัลคิดค่าธรรมเนียมแค่ 0.1% และเข้ามาจัดการความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทั้งระบบ" นายศักดา กล่าว
ระบบไทยบาทดิจิทัล ได้นำเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังได้รับความนิยมมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบทั้งหมด ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วมีต้นทุนต่ำ ปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงินระดับโลกจะนำมาใช้ในธุรกิจของตนเองแล้ว อย่าง Paypal, JPMorgan เป็นต้น จากเดิมที่เคยใช้ระบบแบบรวมศูนย์ ซึ่งมีราคาแพงอย่างมาก เปลี่ยนมาเป็น Blockchain ที่อยู่บนพื้นฐานเดียวกับระบบไทยบาทดิจิทัล ส่งผลให้สามารถนำระบบค่าธรรมเนียมของธุรกรรมที่ต่ำมากมาให้บริการได้
ในปี 2561 นี้ ทางบริษัทคาดว่า จะมีการใช้ระบบไทยบาทดิจิทัลประมาณ 5% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ชในประเทศไทย หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท และหากใช้ไทยบาทดิจิทัลจะทำให้ยอดการสูญเสียจากการหลอกลวงในอีคอมเมิร์ชลดลงถึง 100% เลยทีเดียว ส่วนในระยะยาวคาดว่าปริมาณการใช้ระบบไทยบาทดิจิทัลจะครอบคลุม 50% ของตลาดทั้งหมดภายใน 5 ปี
สำหรับเป้าหมายกลุ่มแรกๆ ที่จะเลือกใช้ระบบไทยบาทดิจิทัลคือ กลุ่มผู้ค้าอีคอมเมิร์ชจากบริษัทใหญ่ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการซื้อขายให้กับลูกค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีวงเงินหลายพันบาทต่อชิ้น และไม่ต้องการพึ่งพาเว็บซื้อขายที่มีระบบเครดิตการชำระเงินที่ไม่เหมาะสม หลังจากนั้นจะเป็นกลุ่มลูกค้าไมโครเปย์เม้นท์ หรือการค้ารายย่อยที่ต้องการเงินหมุนเวียนสูงจะตามมา
ส่วนแผนการระดมทุนของบริษัทนั้น จะมีการระดมทุนด้วยการใช้ ICO ด้วยการออกเหรียญจำนวน 300 ล้านเหรียญ ในมูลค่าเริ่มต้นที่ 3 บาทต่อ 1เหรียญ จะมีการเปิดซื้อขายเหรียญในรอบพรีเซล 30 มีนาคมนี้ และขายผ่านตลาดเสรีตั้งแต่ 30 เมษายนเป็นต้นไป โดยจะใช้ผู้ตรวจสอบ หรือ Auditor ที่ดูแลการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้จัดการซื้อขายครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้มาตรฐานการ ICO ของบริษัทเทียบเท่ากับการระดมทุนในตลาดปกติ คาดว่าภายใน 3 เดือนจะสามารถระดมทุนได้ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมาย ซึ่งเงินลงทุน ICO ครั้งนี้จะนำมาเป็นเงินหมุนเวียนผ่านระบบไทยบาทดิจิทัลทั้งหมด
"เป้าหมายหลักของธุรกิจนี้คือ การเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับระบบการเงินสมัยใหม่ให้มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้ โดยตัวบริษัทเองแม้จะระดมทุนด้วยเงินคริปโต แต่สุดท้ายแล้วบริษัท บาทฟินเทค ก็จะเข้าสู่ระบบการเงินปกติด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย" นายศักดา กล่าวสรุป
นายจักกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าบริหารสายงานการขายและการตลาดบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ แอดไวซ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาแอดไวซ์ขายสินค้าไอทีผ่าน "Advice Online" และได้สร้างหมวดสินค้าไอทีในการขายผ่านอีคอมเมิร์ชมากที่สุดในไทย การเป็นพันธมิตรกับ บาทฟินเทค ที่เข้ามาช่วยเรื่องระบบการชำระเงินสำหรับการสั่งซื้อสินค้า ถือเป็นครั้งแรกที่จะนำเงินคริปโตเคอเรนซี่มาใช้ในการซื้อขายสินค้าจริงในไทย เป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการซื้อสินค้าและรองรับการใช้สกุลเงินดิจิทัลไปพร้อมกัน