กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สำนักงาน กปร.
พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้าห้วยสะโตน พร้อมกับติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมราชบพิตร พระราชทานไว้บังเกิดประโยชน์กับราษฎรโดยเร็ว
โอกาสนี้องคมนตรี พร้อมคณะฯ รับฟังการบรรยายสรุปผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์อออันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ ต.แซร์ออ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 173,000 ไร่ ประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน จำนวน 2,662 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 10,725 คน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส อ้อย และเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรอง ซึ่งราษฎรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และน้ำสำหรับทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่เกิดภาวะฝนแล้งต่อเนื่อง ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อาคารบังคับน้ำเดิมท้ายอ่าง พร้อมปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดเล็กเดิมในเขตตำบลแซร์ออ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และในปี 2556 สำนักงาน กปร. ได้อนุมัติงบประมาณให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งน้ำ โดยก่อสร้างฝายน้ำล้น บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านแซร์ออ และก่อสร้างท่อระบายน้ำพร้อมกับขุดลอกคลองบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านเขาน้อยพรมสุวรรณ และหมู่ที่ 9 บ้านแผ่นดินเย็น ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2556 เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้แก่ราษฎรในเบื้องต้น ปัจจุบันคงเหลือเพียง การดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแซร์ออ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีลักษณะเป็นเขื่อนดิน ความจุของอ่างเก็บน้ำประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม แต่เนื่องจากพื้นที่ในการก่อสร้างบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกสูง จึงจำเป็นจะต้องศึกษา ความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (IEE) ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแซร์ออ เพื่อเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของการก่อสร้างออกจากพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติต่อไป นอกจากนี้ องคมนตรีได้ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางฯ ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2521 สรุปความว่าควรพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำห้วยยางโดยเร่งด่วน กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยยางฯ เมื่อปี 2529 ลักษณะเป็นเขื่อนดิน ทำนบดินยาว 3,200 เมตร สูง 17 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกัก 60 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จในปี 2537 ซึ่งปัจจุบันมีการชำรุดเสียหาย ดังนั้น กรมชลประทาน และสำนักงาน กปร. จะดำเนินการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์ให้แก่ราษฎรต่อไป
จากนั้นช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่คาดว่าจะดำเนินก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อปี 2525 ให้กรมชลประทาน พิจารณาหาแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำพระปรง และลุ่มน้ำห้วยสะโตน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกแก่ราษฎรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง มีน้ำเพื่อการอุปโภค–บริโภคตลอดปี และช่วยบรรเทาอุทกภัย โดยในปี 2527 ได้มีพระราชดำริเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ทั้งนี้
อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านผักแว่น ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ปิดกั้นลำห้วยสะโตน ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลมาจากตะวันตกไปทางตะวันออก ท้ายน้ำไหลเข้าสู่ประเทศกัมพูชา อ่างเก็บน้ำมีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่นกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 1,670 เมตร สูงประมาณ 19 เมตร มีขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำประมาณ 22.32 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์อยู่ในเขต ต.ทัพราช อ.ตาพระยา ประมาณ 12,800 ไร่
ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยาบางส่วน เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 แต่เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม 2548 อุทยานแห่งชาติตาพระยาถูกประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ส่งผลให้กรมชลประทานไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนได้ จำต้องศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน และจัดทำแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้รอบคอบรัดกุม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ครอบคลุมทุกมิติและเกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดให้การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนเสร็จสมบูรณ์ภายในสิงหาคม 2561 นี้