กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รายงานเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือ "จินดามณี เล่ม 1 และ จินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์" พร้อมกับแจกให้ ครม. ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ วธ. เผยแพร่หนังสือเล่มดังกล่าวให้เด็ก เยาวชน ประชาชนมีโอกาสศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม และจารีตประเพณีของไทยในอดีต รวมถึงให้ต่อยอดการเผยแพร่ อาทิ ประกวดการอ่านโคลง กาพย์ กลอนที่อยู่ในหนังสือจินดามณี ซึ่งจะมอบหมายให้หน่วยงานสังกัด วธ.เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยจะเผยแพร่หนังสือจินดามณี ไปยังหน่วยงานราชการ ห้องสมุดสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งกรมศิลปากร รายงานว่าในปีนี้จะนำหนังสือจินดามณี ไปจำหน่ายงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปลายเดือนมีนาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย ส่วนข้อสั่งการเรื่องการต่อยอดการจัดประกวดอ่านโคลง กาพย์ กลอน วธ.จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวเช่นกัน
นายวีระ กล่าวอีกว่า สืบเนื่องจากละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ประพันธ์โดย "รอมแพง" ก่อให้เกิดกระแสเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่และประชาชน สนใจค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและนิยมแต่งกายด้วยชุดไทยอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญในละคร "บุพเพสันนิวาส" ได้กล่าวถึงหนังสือจินดามณีหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย ซึ่งพระโหราธิบดีเป็นผู้เขียน ทำให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ สอบถามมายังกรมศิลปากรจำนวนมาก ว่าต้องการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวและอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก เนื่องจากทราบว่า กรมศิลปากรเคยจัดพิมพ์จินดามณีเผยแพร่มาแล้ว 1 ครั้ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้จัดพิมพ์ตามฉบับจินดามณี เล่ม 1 และนำสำเนาเอกสารสมุดไทยหนังสือจินดามณี เอกสารเลขที่ 83 จินดามณีฉบับใหญ่ เอกสารเลขที่ 4 และจินดามณี เล่ม 2 เอกสารที่ 29 รวมจัดพิมพ์เป็น "จินดามณี เล่ม 1 และจินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์" การจัดพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อให้ทุกคนได้เห็นลักษณะของหนังสือแบบเรียนไทยในอดีต ที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการที่สนใจวรรณคดีและอักษรศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษา
ทั้งนี้ "จินดามณี" เป็นหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย ซึ่งพระโหราธิบดี เป็นผู้เขียนและเชื่อว่าใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ว่าด้วยคำศัพท์ที่มักเขียนผิด ความหมายของศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตและเขมร ตัวอย่างคำที่ใช้ ส, ศ, ษ ตัวอย่างคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ด้านบทประพันธ์ร้อยกรองได้อธิบายโคลง ฉันท์ การประพันธ์ ร้อยกรองประเภทต่างๆ พร้อมยกตัวอย่าง
คำว่า "จินดามณี" แปลว่า แก้วสารพัดนึก หมายถึง แก้วอันอาจให้ประโยชน์ทุกประการแก่ผู้ครอบครองดังใจนึก (แก้วเปรียบดังปัญญาได้) อย่างไรก็ตามหนังสือจินดามณี มีหลายฉบับ มีเนื้อหาแตกต่างกัน เช่น ฉบับพระโหราธิบดี แต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฉบับไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ และฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น อย่างที่ทราบกันดีว่าหนังสือเล่มดังกล่าวถือว่ามีคุณค่าเชิงวรรณคดีและอักษรศาสตร์แล้ว ยังเป็นต้นแบบของหนังสือแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นในชั้นหลังด้วย