กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
โดย การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
"บ้านขอ" เป็นหนึ่งในพื้นที่ทางภาคเหนือที่ในอดีตเคยประสบวิกฤตปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นประจำทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา และอยู่ในเขตติดต่ออุทยานแห่งชาติแจ้งซ้อน แต่หลังจากนำกระบวนการวิจัยท้องถิ่นเข้าไปใช้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า เพื่อป้องกันและรักษาป่าต้นน้ำประสบผลสำเร็จ โดยใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่นเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สามารถลดปัญหาหมอกควันไฟป่าลงได้อย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน "บ้านขอ" กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผาของ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
นายจำนง จำรัสศรี กำนัน ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง กล่าวว่า ตำบลบ้านขอ มีด้วยกัน 13 หมู่บ้าน ในอดีตแต่ละปีต้องประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า ส่งผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะด้านสุขภาพ เกษตร และท่องเที่ยว ทำให้ต้องหาทางแก้ไข เพราะสถานการณ์หมอกควันมีความรุนแรงมากเกิดขึ้นนับร้อยครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
" การแก้ปัญหาไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกัน ชุมชนต้องมีส่วนร่วม ต้องคิดเสมอว่าเราจะต้องช่วยกันแก้ปัญหา เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เราต้องช่วยกันพูด โดยผู้นำทุกฝ่ายจะต้องจุดประเด็นให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าหากเรายังต้องการหากินกับป่าเราก็ต้องช่วยกันดูแลป่า ซึ่งการแก้ปัญหาตอนนั้นได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่หลังได้รู้จักหนานชาญ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง สกว.ในพื้นที่ ใช้งานวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมไฟป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควันเข้ามาขับเคลื่อนชุมชนใน ต.นายาง อ.สบปราม ประสบผลสำเร็จในระดับตำบล จึงเกิดความสนใจ นำมาสู่การจัดทำโครงการศึกษาหาแนวทางในการขยายชุดความรู้กระบวนการ และประสานการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยการมีส่วนร่วมของคนในตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง โดยการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว."
นายอภัย สอนดี อดีตผู้ใหญ่ ม.4 บ้านขอ ในฐานะประธานป่าชุมชนในขณะนั้น เล่าให้ฟังว่า "ตอนนั้นสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรงมาก จึงเป็นสาเหตุให้ชุมชนตัดสินใจใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าภายใต้โครงการดังกล่าวร่วมกับทาง สกว.เมื่อปี 2559 โดยเริ่มจากไปชักชวนผู้นำหมู่บ้าน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้ง 13 หมู่บ้าน และองค์บริหารส่วนตำบล มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าเราจะทำกี่หมู่บ้านหรือร่วมทำพร้อมกัน มีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน 2-3 ครั้ง จึงได้ข้อสรุปที่จะทำพร้อมกัน เพราะทุกคนตระหนักแล้วว่าเกิดไฟป่าทุกปี แต่ไม่รู้ว่าแก้ไขกันอย่างไรดี เมื่อทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานโดยใช้กระบวนการวิจัยเข้าขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ที่มีเป้าหมายก็เพื่อการอนุรักษ์ป่า"
ด้านนายอาจ ธนันตรีศักดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขอ กล่าวเสริมว่า นโยบายของ อบต. เอง มีเรื่องการทำวิจัยและวิเคราะห์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เมื่อทุกฝ่ายมองเห็นความสำคัญที่จะนำงานวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ตำบลบ้านขอ ทาง อบต.ก็ยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน ทั้งด้านงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ดับไฟ และกำลังคนเพื่อเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทันทีไม่ว่าจะเกิดไฟขึ้นที่จุดใด เพราะเรามีรถบรรทุกน้ำเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงมาจากการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ
นายชาญ อุทิยะ หรือหนานชาญ ในฐานะพี่เลี้ยงจาก สกว. กล่าวว่า " ตนเองติดตามและทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันไฟป่ามานานกว่า 7 ปี เริ่มจากหมู่บ้านสามขาที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ได้สำเร็จกลายเป็นต้นแบบการจัดการไฟป่าระดับประเทศ จนนั้นได้ขยับมาทำเรื่องของการจัดการไฟป่าและสิ่งแวดล้อมภาค 2 ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พะเยา แพร่ และลำปาง กระทั่งมีโอกาสนำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าไปขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ตำบลนายาง อำเภอสบปราม จังหวัดลำปางเมื่อปี 2558 จากจุดเริ่มต้นเพียง 4 หมู่บ้าน พอระยะปีที่สองซึ่งเป็นโครงการส่วนขยายชุมชนเริ่มเห็นผล จึงมีหมู่บ้านเข้าร่วมเพิ่มเป็น 11 หมู่บ้าน ถือเป็นผลความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าระดับตำบล จึงได้นำชุดประสบการณ์กระบวนการทำวิจัยชุมชนบ้านนายางเข้ามาทำที่ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน แต่พยายามปรับแก้ไขจุดอ่อนที่พบจากการทำงานที่ตำบลนายาง ที่ถึงแม้การทำวิจัยจะประสบความสำเร็จเพราะท้องที่เข้ามามีส่วนร่วม แต่หากไม่มีส่วนร่วมของท้องถิ่น ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณส่งผลกับงานที่จะขยับต่อไปข้างหน้าทำได้ลำบาก จึงนำมาเป็นบทเรียนปรับใช้กับการทำวิจัยที่บ้านขอ"
" ความน่าสนใจของบ้านขอที่สำคัญ และถือเป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากที่อื่น คือ ความรัก ความสามัคคี ของผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมในการทำงานที่ดีเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ "
นายชาญ กล่าวว่า ในการพิจารณาคุณสมบัติของพื้นที่ไหนจะขับเคลื่อนงานวิจัยได้สำเร็จหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาด้วยกัน 2 เรื่อง คือ หนึ่งการประเมินท้องที่ว่าผู้นำมีความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือมีความขัดแย้ง รวมทั้งการมีส่วนร่วม และการสร้างสัมพันธ์กันระหว่างผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ ซึ่งสามารถวัดได้จากการประชุม และสองการประเมินหน่วยงานรัฐที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งบ้านขอมีความได้เปรียบค่อนข้างสูง มีทั้งอุทยานแห่งชิตแจ้ซ้อน เขตห้ามล่าดอยพระบาท หน่วยจัดการต้นน้ำ และหน่วยป้องกันอีกหลายแห่ง ทำให้การทำงานวิจัยนอกจากมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องที่อย่าง อบต. และอำเภอเมืองปานแล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เป็นการบูรณาการการทำงานแทนที่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ จนปัจจุบันการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าของตำบลบ้านขอถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
นายสมบูรณ์ เอกกาญจนา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 และในฐานะประธานโครงการฯ อธิบายถึงกระบวนการการทำงานที่ผ่านมาว่า หลังทุกฝ่ายเห็นพ้องในการทำวิจัยร่วมกันแล้ว ก็มาตั้งทีมวิจัยขึ้น ประกอบด้วย ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. รองนายก อบต. ผู้ช่วย อบต. และคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกัน เพราะการทำงานเราจะทำงานกันเป็นทีม จัดทีมลงพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน ช่วยกันลงพื้นที่ทั้ง 13 หมู่บ้าน เพื่อเข้าไปพูดไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านโดยตรง ทั้งแบบเคาะประตูบ้าน ทั้งการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมต่างๆ มีการส่งเสียงตามสายประกาศแจ้งเตือนคนในหมู่บ้าน เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างการรับรู้ให้กับชาวบ้าน
"เราต้องทำให้เห็นว่า การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่านั้น เราทำจริง และทำอย่างต่อเนื่อง เวลาลงพื้นที่แต่ละหมู่บ้านก็จะไปพร้อมกันเป็นทีมเดียวกัน เพื่อช่วยกันพูดกับชาวบ้านถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ตอกย้ำให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดหมอกควันไฟป่าขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและต่อครอบครัวอย่างไร เกิดผลเสียอย่างไร และให้ข้อคิดแก่ชุมชนในฐานะเจ้าบ้าน เราควรจะช่วยกันดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่า เพราะป่าถือเป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชน รวมถึงสัตว์ป่าและพืชพันธุ์จากป่าก็จะหมดไป เราจึงต้องช่วยกันดูแลปัญหาหมอกควันไฟป่าด้วย เมื่อชาวบ้านเห็นว่ากลุ่มผู้นำเอาจริงก็จะหันมาให้ความร่วมมือเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของปัญหาหมอกควันไฟป่าในตำบลบ้านขอลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยอมรับว่า สิ่งที่ทำอยู่แม้จะเหนื่อยแต่ผลสำเร็จที่ได้กลับมาคือความภาคภูมิใจของคนทำงาน"
กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีที่มักเกิดปัญหาหมอกควัน ก็จะมีการจัดกิจกรรมแห่รถรณรงค์ไปทั่วตำบล พร้อมกับการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายทุกหมู่บ้าน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้รับรู้ว่ากำลังเข้าสู่ช่วง 100 วันอันตรายให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลระมัดระวัง ห้ามจุด ห้ามเผา ตามประกาศกฎห้ามเผา เป็นการช่วยกระตุ้นเตือนชาวบ้านได้ แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้มีงานวิจัยเข้ามา เวลาไปพูดกันเองแต่ละหมู่บ้าน มันไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ พองานวิจัยเข้ามาทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการการทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และแนวทางการแก้ปัญหาควรทำอะไรก่อนหลัง ที่สำคัญการทำงานเป็นทีมแบบลงพื้นที่ 13 หมู่บ้าน เข้าไปให้ความรู้ เข้าไปสร้างความเข้าใจซ้ำๆ เพื่อบอกเขาให้รู้ถึงคุณค่าของป่า ชี้แนะให้เขาได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของป่าด้วยตัวเอง แทนการติดป้ายเตือนอย่างเดียว ช่วยให้ชาวบ้านได้รับรู้และตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบที่จะเกิดกับเขาได้มากขึ้น ปัญหาจึงลดลงอย่างที่เห็นในวันนี้ จากเมื่อก่อนชาวบ้านเคยไม่สนใจเข้าป่าไปอยู่ตรงไหนก็จะจุดไฟตรงนั้นแล้วไม่ดับ เพราะเขาไม่รู้ แต่วันนี้เรามีกฎระเบียบร่วมกัน ชาวบ้านเข้าไปหาของป่า หาของกินได้ แต่เวลาหุงอาหารเสร็จจะต้องเก็บให้เรียบร้อย
เมื่อชุมชนเห็นประโยชน์และรู้คุณค่าของป่า ป่ารอบชุมชนก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีการกำหนดพื้นที่ เช่น เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาปรุงบ้านป่าเหว หรือวังปลา นอกจากเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำห้วยบอมซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชน จากเดิมที่ชาวบ้านไม่ให้ความสนใจลำห้วยถูกปล่อยปะละเลย แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ชาวบ้านเห็นความสำคัญหันกลับมาดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำ ร่วมกันนำกระสอบทรายมาทำเป็นฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง และยังอนุรักษ์พันธุ์ปลาปรุงซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ให้กลับมามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยชุมชนมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันกำหนดเป็นกฎกติกาห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์ ภายในระยะ 1,500 เมตรรอบพื้นที่เขตอนุรักษ์ฯ ผู้ฝ่าฝืนถูกปรับตัวละ 5,000 บาท ส่วนผู้ช่วยและผู้ใหญ่บ้านจะต้องถูกปรับเป็น 2 เท่า ทำให้นอกจากการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแล้วยังได้ระบบนิเวศกลับคืนมา
ปัจจุบันสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนไฟป่าที่เคยเกิดขึ้นกว่า 100 ครั้ง ลดลงเหลือ 19 ครั้งในปีที่ผ่านมา และนำมาสู่การจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา"ขึ้น ณ บ้านขอใต้ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เพื่อเปิดให้หน่วยงานหรือตำบลอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งภายในศูนย์ฯ มีการจัดทำเป็นนิทรรศการ แผนผัง รูปแบบการทำงาน และแนวทางการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้ได้เรียนรู้ไปจนถึงข้อมูลสถิติที่ผ่านมา
นายชาญ กล่าวว่า "ปัญหาหมอกควันไฟป่า จะต้องดับไฟในใจคนก่อน โดยการสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ เห็นได้ชัดจากผลการดำเนินงานของตำบลบ้านขอ เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าน้อยที่สุดในจังหวัดลำปาง รองจากอำเภอเถิน และจากผลสำเร็จนี้ จึงมีแนวคิดที่จะยกระดับงานวิจัยจากระดับตำบลเป็นระดับอำเภอ โดยจะใช้บทเรียนและชุดความรู้หรือโมเดลบ้านขอเป็นต้นแบบนำไปขยายผลสู่ระดับอำเภอภายในปี 2561 นี้ เพื่อให้อำเภอเมืองปานปราศจากหมอกควันไฟป่าอย่างถาวร ซึ่งอำเภอเมืองปาน มีทั้งหมด 5 ตำบล รวมทั้งสิ้น 56 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ต.ทุ่งกว๋าว , ต.แจ้ซ่อน , ต.เมืองปาน , ต.หัวเมือง และ ต.บ้านขอ"
นายจำนง กำนัน ต.บ้านขอ กล่าวในตอนท้ายว่า "เมื่อเราอยู่กับป่า ต้องหากินกับป่า เพราะป่าเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน จึงต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า ต้องปลูกจิตสำนึก และถ่ายทอดสิ่งที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์นี้ส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆไป"