กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิสว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (USFDA) ได้มีข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายเรื่องการปิดฉลากสินค้าอาหารที่ผ่านการฉายรังสี ซึ่งเดิมกำหนดให้ต้องปิดฉลากระบุข้อความว่า “Treated by irradiation” และติดตรา “radura logo” แต่ปัจจุบันจะผ่อนผันให้กับสินค้าอาหารที่เมื่อผ่านการฉายรังสีแล้วไม่ทำให้คุณสมบัติของอาหารเปลี่ยนแปลงไป สามารถเลือกที่จะปิดฉลากระบุข้อความว่า “Treated by irradiation” และติดตรา “radura logo” หรือไม่ ก็ได้
อย่างไรก็ดี FDA ได้เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ภายใน 3 กรกฎาคม 2550 ซึ่งปรากฏว่ามีผู้บริโภคกว่า 28,000 ราย ต่อต้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นผลให้กฏหมายฉบับใหม่นี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2551
ปัจจุบันมีสินค้าอาหารที่ได้รับอนุญาตจาก FDA ให้สามารถจัดการด้วยการฉายรังสีได้หลายรายการ ได้แก่ แป้งสาลี มันฝรั่งขาว เมล็ดพันธุ์ถั่วงอก ผักผลไม้ น้ำผักผลไม้ สมุนไพรแห้ง เครื่องเทศ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแกะแช่เย็นแช่แข็ง และไข่ไก่สด และขณะนี้ FDA อยู่ระหว่างการพิจารณารายการสินค้าอาหารที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้วิธี การฉายรังสีเพิ่มเติม ได้แก่ อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat) อาหารเด็ก (baby food) เนื้อสัตว์ประเภท deli meats ผักสลัดที่ได้มีการตัดไว้พร้อมแล้ว อาหารทะเล เนื้อวัวสด เนื้อหมูสด เนื้อแกะสดที่ไม่ได้แช่ตู้เย็น และไม่ได้ทำสุก
ธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของไทยในสินค้าอาหาร โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไปยังสหรัฐฯ เฉลี่ยปีละประมาณ 93,000 ล้านบาท โดยในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 103,966 ล้านบาท และในปี 2550 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 65,416 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.03 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ โดยฉพาะในเรื่องการติดฉลากให้เป็นไปตามที่ USFDA กำหนด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม หากมีการประกาศใช้กฎระเบียบใหม่ดังกล่าว