กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 1,010 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.4, 39.3, 30.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 43.3, 14.8, 14.6, 13.6 และ 13.7 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.3 และ 19.7 ตามลำดับ
โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.0 ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลางปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุจากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เตรียมปรับขึ้น รวมทั้งตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำงานที่น้อยกว่าปกติ รวมทั้งมีวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการส่งออกก็ยังมีความกังวลต่อมาตรการ กีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กระทบต่อการกำหนด ราคาขายสินค้า
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับดี สะท้อนจากดัชนีฯ ยอดรับคำสั่งซื้อ และยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อาหาร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.1 ในเดือนมกราคม
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้
อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 74.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 75.6 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.8 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 90.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.8 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ104.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.4 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่-ยานยนต์, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ104.3 ในเดือนมกราคม 2561 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 91.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.0 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นและเหล็กลวด มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง)
อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ (คอนกรีตสำเร็จรูป ปูนซิเมนต์ผสม มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศลดลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน)
อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ครีมบำรุง และเครื่องสำอาง มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป CLMV)
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมชนิดม้วนและแผ่น กระป๋องและขวด อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมประเภทชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนยานยนต์ มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น จีนและสหรัฐฯ)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ102.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 83.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าในปริมาณสูงทำให้ชะลอคำสั่งซื้อ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อลดลงจากจีนและตลาด CLMV)
หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าหัตถกรรม เครื่องเคลือบและของที่ระลึก เช่น ผ้าผันคอ กระเป๋าผ้า ของที่-ระลึกต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน งานประดิษฐ์ งานหัตถกรรม มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน)
อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (อิฐมวลเบาและอิฐโปร่งที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศลดลง)
อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเส้นด้าย เส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้านการส่งออกเส้นใยสิ่งทอ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำไปผลิตเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าสำเร็จรูป)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 86.7ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากงานโมบายเอ็กซ์โปร์ 2018 ด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลักประเภท Semiconductor, Monolithic, IC และ HDD เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากยุโรป จีน และ CLMV)
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการได้มีการออกสินค้าใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ด้านการส่งออกสินค้าประเภทเสื้อ- กันหนาว เสื้อผ้าแจ็คเก็ต มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ)
อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตร เช่น ชิ้นส่วนรถไถนา มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ายังคงมีสินค้าในสต๊อกในปริมาณสูง)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.0 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนทำให้ความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อคอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย เครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตะวันออกกลางและเอเชียใต้)
อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซียและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการพัฒนาคุณภาพด้านเทคโนโลยีมากขึ้น)
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับประเภทอัญมณี เพชร พลอย มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ และยังได้รับผลดีจากการจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair เครื่องประดับทองคำมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีในช่วงเทศกาลตรุษจีน)
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมเคมี (ผลิตภัณฑ์สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม น้ำยาทำความสะอาด สีน้ำพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.1 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 82.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาลดลง เนื่องจากมีการชะลอคำสั่งซื้อ เพราะมีสต๊อกในปริมาณสูง)
อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น (สินค้าประเภท แผ่นปาร์ติเกิลบอร์ด ไม้แผ่นบาง ไม้อัด มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าปริมาณสูง ผลิตภัณฑ์ไม้อัด ไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด ไม้สำหรับเฟอร์นิเจอร์ มีคำสั่งซื้อลดลงจากตะวันออกกลาง)
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สินค้าประเภทชีวภาพ ป้องกันกำจัดโรคพืชและปุ๋ยชีวภาพ อาหารเสริมสำหรับพืช มียอดขายในประเทศและส่งออกไปตลาด CLMV ลดลง)
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (การผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากความต้องการนำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล ขณะที่น้ำมันปาล์มขวดมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 99.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 103.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์
1. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
2. เจรจากับประเทศที่มีนโยบายกีดกันทางการค้า เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการค้าการลงทุน
3. เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม
4. สนับสนุนการขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ใช้แรงงานฝีมือ เช่น สินค้าหัตถกรรม และเซรามิก