งานแถลงข่าวมอบทุนการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วย RFID แห่งประเทศไทย ครั้งที่1

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2007 12:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ซีเอ็ดยูเคชั่น
เนคเทค สวทช. ร่วมกับ วารสารเซมิคอนดักเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ในเครือบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนโครงการ 8 บริษัท จัดงานมอบทุน “การแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วย RFID แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1” ให้กับบรรดานักศึกษาที่ส่งหัวข้อการประยุกต์ใช้งาน RFID จำนวน 32 โครงการ จากการคัดเลือกมาจาก 127 โครงการ ของนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ระดับชั้นปริญญาตรี ทั้งของรัฐและเอกชน โดยพิจารณาจากเกณฑ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้งาน ในเชิงพาณิชย์ สังคม ได้ในอนาคต ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยทางด้านเทคโนโลยี RFID ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ต่อไป
โดยการจัดการมอบทุนการแข่งขันครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคเอกชนของไทยทั้ง 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ไอดี เอเชีย เอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด, บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โอ จี เอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ไอที เวิร์คส์ จำกัด และ บริษัท ไอ.อี เทคโนโลยี่ จำกัด ซึ่งได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านอุปกรณ์และทางด้านวิชาการ ในการให้ความรู้และถ่ายทอดความเชี่ยวชาญของเทคโนโลยี RFID
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้กล่าวสรุปทิศทางของเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ว่า เป็นเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ใช้สำหรับการระบุบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัย ปัจจุบัน RFID เริ่มมีบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจทุกภาค ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตสินค้า ผู้ขาย ผู้ให้บริการขนส่ง และหน่วยงานรัฐบาลในหลายประเทศได้ตระหนักถึงประโยชน์ของ RFID ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตและการขนส่ง และจากการศึกษาโดยสำนักวิจัยตลาดหลายสำนักพบว่าตลาด RFID ของโลกมีการขยายตัวในเชิงมูลค่าประมาณร้อยละ 25-30 ต่อปี คาดว่าในปีหน้ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่าสูงถึง 254,000 กว่าล้านบาท โดยมีการใช้งาน RFID หลายรูปแบบหลายจุดประสงค์ แม้กระทั่งในภาคเกษตรกรรม มีการใช้งาน RFID ในระบบบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์และระบบตรวจสอบย้อนกลับในสายโซ่การผลิตอาหาร (food traceability system) ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดซึ่งประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้ออกกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับและเริ่มบังคับใช้แล้วในปีนี้
ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม มีการใช้งาน RFID ในระบบบริหารการผลิต ระบบจัดการคลังสินค้าและบริหารสินค้าคงคลัง ระบบบริหารการขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) ระบบบริหารการค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลกได้เริ่มวางกฎเกณฑ์ให้ผู้ผลิตหรือผู้ส่งสินค้าใช้ฉลาก RFID บันทึกรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EPC (Electronic Product Code) แทนที่รหัสแท่ง (bar code) ในหน่วยการบรรจุขนาดใหญ่ (หีบและพัลเลต) แล้ว ผู้ส่งออกจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบ EPC เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ในภาคบริการ มีการใช้งาน RFID ในหลายด้าน เช่น ในด้านการขนส่งสาธารณะ มีการใช้ RFID ในระบบชำระค่าผ่านทางหรือค่าโดยสารแบบอัตโนมัติ; ในด้านการศึกษา มีการใช้ฉลาก RFID บันทึกเลขประจำหนังสือ ทำให้สามารถตรวจสอบและจัดวางหนังสือบนชั้นได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว สามารถให้บริการยืมคืนแบบอัตโนมัติด้วยตนเองได้ ทำให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์; ในด้านการแพทย์และสุขภาพ มีการใช้ในฉลากยาพูดได้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนที่มีสายตาบกพร่อง และใช้ในสายรัดข้อมือผู้ป่วยแบบไร้สายในโรงพยาบาลเพื่อการระบุตัวผู้ป่วยและเข้าถึงข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ; ในด้านการท่องเที่ยว อาจใช้พวงกุญแจหรือกำไลข้อมือ RFID เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถใช้ระบุตัวบุคคลเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ ในด้านบริการภาครัฐ มีการฝังชิป RFID ในหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่
ประชาสัมพันธ์ข่าวโดย:
ศิริสาร เขตปิยรัตน์ / ภาณุมาศ ธรรมเวช
บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
โทร. 02-739-8153, 02-739-8231
E-mail: sirisan@se-ed.com, Panumard@se-ed.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ