กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ โพล เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,190 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.7 ระบุพฤติกรรมแย่ของคนใช้ถนน ทำคนไม่ปลอดภัย มากที่สุด คือ ขับรถเร็ว ประมาทหวาดเสียว เกินกฎหมายกำหนด รองลงมาคือ ร้อยละ 61.6 ระบุ ขับรถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนไฟแดง ย้อนศร ไม่ทำตามกฎ ร้อยละ 53.3 ระบุ การใช้อิทธิพล การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ร้อยละ 47.9 ระบุ โทรศัพท์ เล่นไลน์ ขณะขับขี่ ร้อยละ 46.3 ระบุ จอดล้ำเส้น ขณะติดไฟแดง ร้อยละ 44.5 ระบุ คนขับ ไม่มีน้ำใจ ร้อยละ 41.0 ระบุ จอดรถในที่ห้ามจอด ร้อยละ 39.3 ระบุ ขับขี่รถจักรยานยนต์ บนทางเท้า ร้อยละ 37.0 ระบุ ขับขณะง่วงนอน ร่างกายไม่พร้อม และร้อยละ 35.1 ระบุ ขับ ขณะ เมา ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณา คือ สาเหตุ พฤติกรรมแย่ ของคนใช้ถนน ทำคนไม่ปลอดภัย ที่สำรวจพบ คือ ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 89.5 ระบุ ความมักง่าย ไม่มีวินัย ไม่ทำตามกฎจราจร รองลงมาคือ ร้อยละ 84.2 ระบุ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่จัดการจริงจัง ไม่ต่อเนื่อง คนทำผิดไม่เข็ดหลาบ ร้อยละ 65.9 ระบุ สภาพถนน สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม ร้อยละ 62.8 ระบุ การก่อสร้าง การพัฒนาเมือง ขาดการวางแผน ขัดวิถีชีวิตประชาชน และร้อยละ 61.9 ระบุ ขาดเทคโนโลยีและอุปกรณ์ควบคุมพฤติกรรมคนใช้ถนนที่ดี ตามลำดับ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.5 เห็นด้วย ต่อ การให้จัดการเด็ดขาดพฤติกรรมแย่ของคนใช้ถนนอย่างจริงจังต่อเนื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและกฎหมายจัดการคนผิด