กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--OHCHR-Bangkok
คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม ถึง 4 เมษายน เพื่อศึกษาความพยายามในการป้องกัน บรรเทา และเยียวยา ผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชน
"ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่สองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในภาคส่วนอย่างเหมืองแร่ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว ประมง ปาล์มน้ำมัน โทรคมนาคม อิเล็กโทรนิค การเงิน และพลังงาน" แดนเต เพสซ์ รองประธานคณะทำงานคนปัจจุบันกล่าว "เราอยากที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับงานที่กำลังดำเนินอยู่มากขึ้นเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้บริษัทต่างๆ ที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยและบริษัทไทยที่ดำเนินกิจการอยู่ในต่างประเทศเคารพสิทธิมนุษยชน"
ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จะศึกษาว่ารัฐบาลและธุรกิจของไทยดำเนินการตามพันธกรณีและหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยสอดคล้องกับหลักแนวทางสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร*"
หลักแนวทางฯ ซึ่งได้รับการรับรองโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วยมติเป็นเอกฉันท์ในปี 2554 ได้ให้ความชัดเจนและแนวทางสำหรับหน่วยงานรัฐและบริษัทว่าจะป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร และจะดูแลให้เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากเหตุเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผลได้อย่างไร
"ในระหว่างภารกิจของเราในประเทศไทย เราจะพบกับผู้มีส่วนได้เสียหลากหลาย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับชาติและระดับจังหวัด วิสาหกิจเอกชนและที่เป็นของรัฐ สมาคมธุรกิจ องค์กรประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สหภาพแรงงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสมาชิกของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองดั้งเดิม" สุรยา เดวา สมาชิกของคณะทำงานที่จะมาเยือนประเทศไทยกล่าว
"เราจะให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อสถานการณ์ของปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างๆ ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ" เขาเสริม
ผู้เชี่ยวชาญจากคณะทำงานฯ ซึ่งมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐบาลไทย จะไปจัดประชุมในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสมุทรสาคร
เมื่อสิ้นสุดการเยือน ในวันพุธที่ 4 เมษายน คณะผู้เชี่ยวชาญจะจัดการแถลงข่าว เพื่อแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชนถึงข้อสังเกตุเบื้องต้นที่ได้จากการเยือน ในเวลา 12.30 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT- 518/5 ถ.เพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330) โดยจำกัดให้เฉพาะนักข่าวเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมการแถลงข่าวได้
ข้อค้นพบจากการเยือนประเทศไทยและข้อเสนอแนะต่างๆ จะปรากฏในรายงานฉบับทางการที่จะนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
(*) อ่านแนวหลักปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้ที่: http://www.ohchr.org/EN/Issues/Business/Pages/Tools.aspx