สช. เผย ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนมาขึ้นทะเบียนเพื่อเลือกกันเองเป็น คสช. คับคั่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 4, 2007 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--สช.
จากการที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ผ่าน สนช. เป็นฉบับแรกของ ปี 2550 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการรวม 39 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรจำนวน 13 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากทุกเขตทั่วประเทศ
การสรรหา คสช.ที่มาจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร 13 คน กฎหมายระบุให้ดำเนินการโดยให้องค์กรภาคเอกชนแต่ละจังหวัดมาขึ้นทะเบียนตามกลุ่มที่คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดกลุ่มไว้ หลังจากนั้นให้มีการประชุมร่วมกันและเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 1 คน และผู้แทนแต่ละจังหวัดต้องมาประชุมร่วมกันและเลือกกันเองให้เหลือเขตละ 1 คน
โดยกฎหมายกำหนดพื้นที่
นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ได้เปิดให้องค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้าคัดเลือกกันเองเป็น คสช. โดยลงทะเบียนที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ส่วนภาคองค์กรภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในระหว่างวันที่ 14-17 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีองค์กรเอกชนลงทะเบียนส่งผู้แทนเข้ารับการคัดเลือกเป็น คสช.รวม 671 องค์กร โดยในวันที่ 10 กันยายน 2550 ผู้แทนองค์กรแต่ละจังหวัดจะมีการประชุมเพื่อเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนจังหวัดละ 1 คน และในวันที่ 29 กันยายน 2550 จะมีการประชุมเป็นรายเขต 12 เขต เพื่อเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนเขตละ 1 คน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพฯ เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ น.พ. บรรลุ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่มีผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรสมัครเข้ามาเลือกกันเองเพื่อเป็น คสช.ครั้งนี้ ซึ่งเป็นชุดแรกมีผู้สมัครถึง 671 องค์กร แสดงว่าภาคประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ตามกลไก ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติปี 2550 อย่างน่าพอใจ
สำหรับ คสช. มีหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ติดตามและประเมินผลระบบสุขภาพและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ รวมถึงสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพด้วย ดังนั้น คสช. จึงเป็นผู้เชื่อมประสานให้ทุกฝ่ายในสังคมให้ร่วมกันพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ