กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. คาด ปี 61 ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.18 ล้านตัน เผย ราคาน้ำมันปาล์มปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับตลาดโลก ไทยยังสามารถส่งออกและแข่งขันได้ ย้ำเกษตรกร ตัดปาล์มสุกเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน โดยอัตราการสกัดน้ำมันทุก 1% จะดันมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านบาท
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ของราคาผลปาล์มน้ำมันและราคาน้ำมันปาล์ม ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปริมาณความต้องการใช้ สต็อกน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้นทั้งในทั้งภายในประเทศ และตลาดโลก รวมไปถึงราคาพืชน้ำมันทดแทนอื่นๆ ด้วย เช่น ราคาถั่วเหลือง เป็นต้น โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 20 - 21 บาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 10 ซึ่ง ข้อมูล ณ 12 มีนาคม 2561 ราคาน้ำมันปาล์ม เฉลี่ย กก.ละ 21.25 บาท จึงเป็นระดับราคาที่สอดคล้องกับตลาดโลก ส่งผลให้ไทยยังมีความสามารถในการส่งออกและแข่งขันได้
จากการคาดการณ์ของ สศก. คาดว่า ปี 2561 มีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.18 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2.67 ล้านตัน และเพื่อให้ปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเกิดดุลยภาพ รวมทั้งระบบราคามีเสถียรภาพ ต้องผลักดันส่งออกอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณเดือนละ 46,600 ตัน อย่างไรก็ตาม จากการรับแจ้งจากผู้ประกอบการส่งออก พบว่า มีการส่งออกน้ำมันปาล์ม ในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 86,432 ตัน และ 66,000 ตัน และในเดือนมีนาคม 2561 คาดว่าจะส่งออกได้ 39,000 ตัน
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในระยะยาว ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธาน กนป. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือแนวทางในการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้ปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเกิดดุลยภาพและระบบราคามีเสถียรภาพ รวมถึงการกำหนดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมทั้งระบบ โดยให้เน้นการผลิตปาล์มคุณภาพ ตามมาตรฐานสากล การตัดปาล์มสุกเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรให้ได้รับราคาที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ การดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักอยู่แล้ว เพราะเมื่อผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะลดลง และเน้นย้ำการตัดปาล์มคุณภาพ /หรือการตัดปาล์มสุก เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพื่อช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร เนื่องจากอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มทุกๆ 1% จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปลูกพืชหรือปศุสัตว์ร่วมในสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง