กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยผลสำรวจพฤติกรรมออนไลน์ เด็กไทยติดเน็ต 35 ชมต่อสัปดาห์ เสี่ยงภัยออนไลน์ถึง 60% มาใน 4 รูปแบบ ต้องเร่งแก้ไขด่วน พร้อมเดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันในปีนี้
ดีป้า เปิดเผยรายละเอียดของ The 2018 DQ Impact Study ซึ่งถูกจัดทำขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ปี 2560 จากความร่วมมือกันของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และ DQ institute ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุ ระหว่าง 8 ถึง 12 ปี จำนวน 1,300 คน ทั่วประเทศ ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test ชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน โดย WEF Global press release ได้เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกในเรื่องพลเมืองดิจิทัลของโลกนี้ มีสาระสำคัญว่าเด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์ถึง (60%) ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ (56%) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ (73%) อินโดนีเซีย (71%) เวียดนาม (68%) และสิงคโปร์ (54%)
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในมือถือ ตามมาติดๆ กับความรวดเร็วของการรับสื่อ จึงทำให้ยากที่เด็กจะคัดกรองหรือแยกแยะเนื้อหาที่สร้างสรรค์และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกจากกันได้ จากรายงานดังกล่าวพบว่าเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง นับว่าเป็นสถิติที่สูงไม่น้อย โดยแบ่งเป็นเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด (73%) และรองลงมาคือคอมพิวเตอร์โรงเรียน (48%) คงต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ต นำมาซึ่งปัญหาที่กำลังเริ่ม "ใหญ่" มากขึ้น ถึงสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ก็มีหลายข้อที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะเด็กที่อยู่กับสื่อมาก ๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสติปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์
ภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตดิจิทัลของเด็กไทยที่พบมากที่สุดคือ 4 ประเภท คือ 1.Cyber bullying (49%) , 2. การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ (19%), 3. ติดเกม (12%) และ 4.ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า (7%) น่าเป็นห่วงว่าค่าเฉลี่ยของ Cyber bullying ของเด็กไทยยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ (47%) ดังนั้น Cyber bullying ที่พอจำกัดความได้ว่า เป็นการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ฯลฯ เหล่านี้กำลังเป็นอีกผลิตผลจากอินเทอร์เน็ต ที่เป็นปัญหาซึมลึกส่งผลต่อปัญหาสังคมไทย ปรากฏให้เห็นและเริ่มทวีความรุนแรงมากในเวลานี้ ประเด็นความกังวลเหล่านี้ จะถูกแก้ไขได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชนจนพัฒนากลายเป็นการป้องกันเชิงรุกเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กไว้ต่อสู้กับการกลั่นแกล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กิจกรรมที่เด็กไทยนิยมใช้เมื่อเข้าอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การดูวีดิโอออนไลน์ (73%) การค้นหาข้อมูล (58%) การฟังเพลง (56%) การเล่นเกม (52%) และการรับส่งอีเมลหรือแชทข้อความผ่านแอพลิเคชั่นบนมือถือ (42%) นอกจากนี้พบว่าเด็กไทยใช้โซเชียลมีเดียถึง (98%) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง (12%) และในจำนวนนี้มีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ (Highly Active User) มากถึง (50%) เช่น โพสรูป โพสคอมเมนต์ ซื้อหรือขายของออนไลน์ สำหรับโซเชียลมีเดียที่เด็กไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ YouTube (77%), Facebook (76 %), Line (61%), Instagram (24%), Twitter (12%) และ Snapchat (4%)
แม้ว่าจากผลสำรวจข้างต้นในส่วนของครู 214 คน พบว่า ยังมีสัดส่วนของคุณครูจำนวน 21 คนไม่สามารถสังเกตถึงภัยออนไลน์ Cyber bullying ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่ายินดีว่าครูมีการตื่นตัวที่จะให้ความรู้เรื่องทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิทัล หรือ พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) โดยเห็นความสำคัญของหลักสูตรพลเมืองดิจิทัลว่าควรมีอยู่ในบทเรียนถึง (88 %)
ทั้งนี้ดีป้ารับนโยบายชัดเจนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อเป็นรากฐานของไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนา DQ ของเด็กไทย คือพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนไปตลอดชีวิต ดีป้าจึงได้เดินหน้าสร้างความฉลาดทางดิจิทัล ( Digital intelligence Quotient : DQ) ด้วยการผนึกความร่วมมือครั้งสำคัญกับ DQ institute ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนทั่วโลกเพื่อมุ่งมั่นให้เด็ก ๆ ทุกประเทศได้รับการศึกษาด้านทักษะพลเมืองด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย สำหรับปีนี้เรามุ่งสร้างความเข้าใจและส่งเสริมเรื่อง DQ อย่างถูกต้องต่อเนื่องในเด็กซึ่งจะช่วยสร้างทักษะชีวิต สมรรถนะ และคุณภาพของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักยับยั้งชั่งใจ คิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง การรู้จักควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม การมีวินัยรับผิดชอบ เรียนรู้เป็น และมีคุณธรรมในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องได้เรียนรู้เข้าใจ DQ ให้แม่นยำ จึงจะพัฒนาสมรรถนะ ทักษะความสามารถและสร้างบุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัยของเด็กไทยให้มีคุณภาพตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีให้เป็นรากแก้วของชีวิตต่อไป