กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
หากเอ่ยชื่อของ ด.ช.พงษ์เมธ วิโรจน์ธรรม หรือ "น้องเจ๋ง" ขึ้นมา เชื่อว่าผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงกีฬาหมากล้อมคงรู้จักเป็นอย่างดี ด้วยเพราะเป็นนักหมากล้อมรุ่นใหม่ที่มีฝีมือระดับ 3 ดั้ง ในวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น แถมยังได้ชื่อว่าเป็นครูสอนหมากล้อมที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศอีกด้วย
"น้องเจ๋ง" เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่วงการกีฬาหมากล้อมว่า เริ่มเล่นหมากล้อมตอนอายุ 9 ขวบ โดยรู้จักจากคุณครูที่สอน Mind Map เอามาให้ลองทำ ซึ่งก็รู้สึกสนุกตั้งแต่ตอนนั้น เพราะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นที่ถูกกำหนดด้วยขนาดตัว อายุ เพศ หรือพละกำลังในการเล่น หมากล้อมเป็นกีฬาที่ไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ใช้เพียงสมองในการคิดวางแผนการเล่น และที่สำคัญได้ฝึกสมาธิ จึงบอกคุณแม่ว่าให้ช่วยหาที่เรียนให้หน่อย
เมื่อได้มาเรียนอย่างจริงจัง น้องเจ๋งยิ่งหลงเสน่ห์ของ "กีฬาหมากล้อม" เพราะนอกจากประโยชน์ที่รับโดยตรงด้านเชาวน์ปัญญา หรือ IQ ผ่านการฝึกกระบวนความคิดในเกมกีฬาแล้ว ยังสามารถนำรูปแบบการจัดกระบวนความคิดที่ได้ฝึกฝนไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันและการเรียนได้อีกด้วย เช่น การจัดลำดับความสำคัญของงาน ว่างานชิ้นไหนควรทำให้เสร็จก่อน
"สิ่งที่ได้จากการเล่นหมากล้อมคือ สมาธิและการแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เพราะในการเล่นแต่ละครั้งก็จะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอบนกระดาน ทำให้เรารู้จักการแก้ปัญหา รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญว่าจะแก้ปัญหาเรื่องไหนก่อน หมากล้อมเป็นเกมที่สนุก ใช้เทคนิคค่อนข้างเยอะ ไม่จำเป็นต้องกินหมากของอีกฝ่ายให้หมด เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้มากกว่าในอนาคต" ด.ช.พงษ์เมธ กล่าว
ด้วยใจรักในกีฬาหมากล้อมบวกกับการฝึกฝนอย่างจริงจัง ทำให้น้องเจ๋งมีพัฒนาการในการเล่นหมากล้อมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนักหมากล้อมรุ่นจิ๋ว ปัจจุบัน "น้องเจ๋ง" กลายเป็นผู้ถ่ายทอดหมากล้อมให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ ที่โรงเรียน พร้อมกับเปิดบ้านตั้งชมรมหมากล้อมนนทบุรี หรือ GO Family ทำให้กลายเป็นครูสอนหมากล้อมที่อายุน้อยที่สุดของเมืองไทยมีลูกศิษย์จำนวนมาก โดยลูกศิษย์ที่เล็กสุดอยู่ชั้นอนุบาล 3
สำหรับเป้าหมายระยะสั้นของน้องเจ๋งในช่วง 2-3 ปีนี้คือ การก้าวสู่ระดับ 5 ดั้ง ภายใต้เป้าหมายของการเป็นมืออาชีพในอนาคต
นางอาทิตยา วิโรจน์ธรรม คุณแม่ของน้องเจ๋ง กล่าวเสริมถึงเหตุผลที่สนับสนุนให้น้องเจ๋งเล่นหมากล้อมว่า ด้วยความที่น้องเป็นเด็กเรียนดีคะแนน 4.00 มาโดยตลอด ทำให้คุณแม่คิดว่าเด็กที่เรียนเก่งเพียงอย่างเดียว จะรู้สึกแพ้ไม่เป็น จึงอยากให้ลูกรู้จักคำว่าแพ้ เพื่อเป็นภูมิต้านทานให้กับลูกในอนาคต จึงลองมองหากิจกรรมที่น่าจะเหมาะสมกับลูก ซึ่งตัวคุณแม่เองรู้จักกับกีฬาหมากล้อมมานานแล้ว และมองว่าเป็นกีฬาที่ช่วยเสริมพัฒนาการทั้งในด้าน IQ และ EQ ควบคู่กันไป ซึ่งพอลูกได้ลองเล่นก็ชอบ
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในด้านของ IQ หลังจากที่น้องเจ๋งมาเล่นกีฬาหมากล้อมอย่างจริงจังคือ ลูกรู้จักจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องให้คุณแม่คอยเตือน ตอนนี้ก็สามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องเตือนแล้ว
ในส่วนของด้าน EQ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันกับ IQ ก็คือ ลูกรู้จักแพ้เป็นและรู้จักแก้ไขข้อผิดพลาด อย่างในบางเกมที่น้องเจ๋งแพ้ น้องเจ๋งก็จะกลับมารีเกมในกระดานดูว่าที่แพ้เพราะอะไร ก็กลับมาแก้ไข เป็นการช่วยพัฒนาหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องวีธีการคิด การวางตัว เสน่ห์ของหมากล้อมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยให้เป็นคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพ
"จากการที่ได้สัมผัสกับลูกศิษย์ของน้องเจ๋งและจากการพูดคุยกับผู้ปกครอง พบว่า พฤติกรรมของน้องๆ ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน มีสมาธิมากขึ้น ยอมรับฟังเหตุผลมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเด็กใจร้อน เอาแต่ใจตัวเอง จึงอยากให้เด็กๆ หันมาเล่นกีฬาประเภทนี้ให้มากขึ้น เพราะเป็นการช่วยสร้างทั้ง IQ และ EQ ในเวลาเดียวกัน" นางอาทิตยา กล่าว
ทั้งนี้ คุณแม่มองว่าหมากล้อมเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์ ช่วยพัฒนาความคิดของบุคคล ให้สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเอง อย่างบางครั้งที่กำลังจะชนะ เกมก็อาจจะพลิกได้ เพราะเกมในกระดานยังไม่จบ ดังนั้น ระหว่างเล่นจึงต้องมีสติ มีสมาธิกับกระดานอยู่ตลอดเวลา เป็นการพัฒนาเด็กในทางอ้อม
ด้าน นายรัชชยุต ภูวัชร์เตชากร ประธานชมรมครูหมากล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการเสวนาหัวข้อ "IQ ดี EQ เด่น เพราะเล่นหมากล้อม" จัดโดยสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ว่า ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาพบว่ามีคนหันมาเล่นกีฬาหมากล้อมเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จำนวนคุณครูยังถือว่าอยู่ในระดับขาดแคลน แม้ว่าทางชมรมจะเร่งดำเนินการผลิตบุคลากรก็ตาม ด้วยเพราะเป็นกีฬาต้องใช้ทักษะสูงสอดคล้องกับ นายเอกพงษ์ ดิษแสง ประธานชมรมหมากล้อมครูสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนของครูสอนหมากล้อม จึงได้มีการบรรจุกีฬาหมากล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาช้างน้อยเกมสังกัดกรุงเทพฯ โดยเป็นชนิดกีฬาที่ 22 เพื่อให้ทุกโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญกับกีฬาหมากล้อม และมุ่งพัฒนาครูหมากล้อม เพื่อมาช่วยพัฒนา IQ และ EQ ของนักเรียนต่อไป ทั้งนี้ ทางสมาคมตั้งเป้าพัฒนาครูหมากล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของกีฬาหมากล้อมที่ปัจจุบันเด็กในทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นอนุบาลก็หันมาเล่นกีฬาชนิดนี้
ขณะที่ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หมากล้อมเป็นกีฬาที่ไม่คิดเอาแพ้เอาชนะ เพราะด้วยปรัชญาของกีฬานี้คือ "ชนะโดยไม่คิดเอาชนะ" เป็นกีฬาที่ทำให้ผู้เล่นไม่ว่าเก่งมากหรือเก่งน้อย มีบุคลิกหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีความนุ่มนวล ไม่ก้าวร้าว รู้จักแบ่งปัน ควบคุมอารมณ์ เพราะเนื้อหาที่ฝึกเป็นประโยชน์
ทั้งนี้ ทางสมาคมจะเดินหน้าสนับสนุนกีฬาหมากล้อมอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของบุคลากรและนักกีฬา ผ่านการจัดอบรมและการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการฝึกฝนพัฒนาฝีมือของนักกีฬา รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาหมากล้อมอย่างต่อเนื่อง