กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- สจล. เดินหน้าอัพเกรดสู่ "สมาร์ทซิตี้" นำร่อง 6 เมือง พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบแจ้งเตือนการกระทำผิดอัตโนมัติ และระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่อมีการเข้าพื้นที่เสี่ยง ยกคุณภาพชีวิตคนไทย
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพัฒนากรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศสู่การเป็นนครอัจฉริยะ (Smart City) ที่สมบูรณ์แบบ เปิดตัวระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ด้วยเทคโนโลยี Global Positioning System: GPS เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ อาทิ ตำแหน่ง ทิศทางการเดินทาง และความเร็ว นำมาวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งยังเตรียมพัฒนาระบบให้สามารถแจ้งเตือนการกระทำผิดได้อัตโนมัติ (Active System) และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการการเดินรถด้วย GPS ในส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนรวมทั้งการพัฒนาระบบแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลล่วงหน้าเมื่อมีการเข้าพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปี 2560 รถบรรทุกและรถโดยสารกระทำความผิดขับเร็วเกินกำหนด รวมสูงถึง17,218,811 ครั้ง โดยรถบรรทุกใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 101.58 กม./ ชม. จำนวนครั้งที่ทำความผิดประมาณ 1.66 ล้านครั้ง ขณะที่รถโดยสารใช้ความเร็วเฉลี่ย 99.37 กม./ ชม. จำนวนครั้งที่ทำความผิด 15.55 ล้านครั้ง ตลอดจนยังพบว่ามี 8 เส้นทางที่มีการใช้ความเร็วสูงสุด อาทิ โดยทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 0-6 ครองแชมป์การขับขี่เร็ว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีอันก้าวหน้าในปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการเข้ามาช่วยพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะนี้ทุกหน่วยงานรวมถึงสถาบันการศึกษาได้เร่งให้ความสำคัญและผลักดันรูปแบบการพัฒนาเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ไปสู่การเป็นนครอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการในด้านต่างๆให้มีประสิทธิภาพสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงเดินหน้าศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมรองรับการพัฒนาสู่สมาร์ทซิตี้ที่สมบูรณ์แบบ โดยการจัดตั้งศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ (Smart Cities Research Center) และสถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart City innovative Research Academy – SCiRA) ขึ้น ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาสมาร์ทซิตี้กับสถาบันพระปกเกล้า ด้วยการใช้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ อันเป็นการผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมขั้นสูงจาก สจล. นำร่อง 6 เมืองทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1. เทศบาลนครนนทบุรี ด้าน Smart Tourism และ Smart Governance 2. เทศบาลนครภูเก็ต ด้าน Smart International Destination 3. เทศบาลนครยะลา ด้าน Smart Security and Surveillance 4. เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ด้าน Smart Compact City 5. เทศบาลเมืองลำพูน ด้าน Smart Tourism และ 6. เทศบาลนครอุดรธานี ด้าน Smart Data Driven City
ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา สถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจจริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สจล. ยังได้เร่งดำเนินการพัฒนาโมเดลการยกระดับ กรุงเทพมหานคร และมีแผนขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและความสุข และเป็น Smart People ภายใต้การศึกษาวิจัยพัฒนาและปรับปรุงระบบต่างๆ อย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ Smart Living – ระบบการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอัจฉริยะ, Smart Utility – ระบบสาธารณูปการอัจฉริยะ, Smart Environment – ระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, Smart Economy – ระบบเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะ, Smart IT – ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Smart Mobility - ระบบการขนส่งอัจฉริยะ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วประเทศ เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต แต่ยังทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ด้าน รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า จากรายงานตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนไทยขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่ามีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สะท้อนว่าหากไม่เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขหรือลดสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่มีการเดินทางออกต่างจังหวัดหนาแน่น เช่นเทศกาลสงกรานต์ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ตลอด 7 วันอันตราย มีผู้สังเวยชีวิตสูงถึง 390 ราย เกิดอุบัติเหตุรวมกว่า 3,650 ครั้ง ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะจึงร่วมกับกรมการขนส่งทางบก พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ด้วยเทคโนโลยี Global Positioning System: GPS ในการเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ อาทิ ตำแหน่ง ทิศทางการเดินทาง และความเร็ว เป็นต้น นำมาวิเคราะห์เชิงลึกและช่วยควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการการเดินรถด้วยระบบ GPSกรมขนส่งทางบก ในรถขนส่งสาธารณะและรถบรรทุกตามประกาศ ตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดมีรถที่ดำเนินการติดตั้งแล้วทั้งสิ้น 271,301 คัน ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น DLT - GPS ให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบเส้นทางและร้องเรียนปัญหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล Safety Analytics จากข้อมูล GPS ของรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ พบมีการกระทำผิดขับเร็วเกินกำหนดรวมสูงถึง 17,218,811 ครั้ง ในปี2560 ที่ผ่านมา จากจำนวนรถในระบบประมาณ 250,000 คัน พบว่า รถบรรทุกใช้ความเร็วเฉลี่ยที่ 101.58 กม./ ชม. จำนวนครั้งที่ทำความผิดประมาณ 1.66 ล้านครั้ง ขณะที่รถโดยสารใช้ความเร็วเฉลี่ย 99.37 กม./ ชม. จำนวนครั้งที่ทำความผิด 15.55 ล้านครั้ง ชี้ให้เห็นว่ารถโดยสารกระทำความผิดมากกว่ารถบรรทุก สำหรับเส้นทางที่กระทำความผิดกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมเป็นเส้นทางกว่า 40,500 กม. จากระยะทางหลวง 54,000 กม. เมื่อตรวจสอบเชิงลึกพบเส้นทางที่มีการใช้ความเร็วสูงสุด 8 เส้นทาง ดังนี้ อันดับที่ 1 ทางหลวงหมายเลข 7 (ถนนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี) กม. ที่ 0-6 อันดับที่ 2 ทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด หรือถนนเทพรัตน) กม. ที่ 1-8 อันดับที่ 3 ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) กม. ที่ 7-12 อันดับที่ 4 ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) กม. ที่ 73-82 อันดับที่ 5 ทางหลวงหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) กม. ที่ 9-16 อันดับที่ 6 ทางหลวงหมายเลข 4(ถนนเพชรเกษม) กม. ที่ 160-165 อันดับที่ 7 ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) กม. ที่ 54-58 และ อันดับที่ 8 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) กม. ที่ 45-51
"เมื่อวิเคราะห์การกระทำผิดแยกตามจังหวัดเปรียบเทียบ 2 ช่วงเวลา ระหว่างเดือน ต.ค. - ธ.ค. กับ เดือน ม.ค.- เม.ย. พบว่า ในช่วง 4 เดือนหลังผู้ขับรถเร็วเกินกำหนดลดลงกว่า ร้อยละ 70 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก แต่ภาคใต้มีแนวโน้มการขับรถเร็วเกินกำหนดที่สูงขึ้น ซึ่งสถิติการใช้ความเร็วที่ลดลงกว่าครึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ และพัฒนาฐานข้อมูลและระบบขนส่งให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันเส้นทางในประเทศไทย มีหลายเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุด้วยข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะปัจจัยด้านกายภาพลักษณะภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุ" รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เส้นทางอันตรายสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารจากฐานข้อมูล HAIMS ในปี 2560 พบว่าทั่วประเทศมีบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและมีผู้เสียชีวิต จึงต้องมีการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างน้อย 7 จุดสำคัญ ได้แก่ 1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วง กมที่ 708-726, 2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วง กม.ที่ 20-36, 3.ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง กม.ที่ 126-130 (บริเวณใกล้ทางแยกตัดกับถนนพระราม 2), 4.ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วง กม.ที่ 30-38 (บริเวณทางแยกเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัช), 5.ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วง กม. ที่ 132-137, 6.ทางหลวงหมายเลข 41 ช่วง กม. ที่ 366 – 379, 7.ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วง กม.ที่ 165-176 บริเวณทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 33 และ กม.ที่ 190-250 บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน)
รศ.ดร.เอกชัย ย้ำว่า ผลสำเร็จจากการดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ซึ่งคณะผู้วิจัยและพัฒนาระบบสามารถตรวจสอบการกระทำความผิด ทั้งการขับรถเร็วเกินกำหนด การไม่แสดงตัวผู้ขับขี่ การขับรถเกินเวลาที่กำหนด เพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว ขณะเดียวกันในด้านโลจิสติกส์ยังทำให้ทราบข้อมูลรูปแบบและเส้นทางการขนส่ง รวมไปถึงจุดจอดพักรถตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้ทราบปริมาณความหนาแน่นของยานพาหนะ นำมาบริหารจัดการระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนแผนการพัฒนาระบบในระยะต่อไปนั้นจะพัฒนาระบบให้สามารถแจ้งเตือนการกระทำผิดได้อัตโนมัติ (Active System) และมีการบูรณาการข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งการพัฒนาระบบแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลล่วงหน้าเมื่อมีการเข้าพื้นที่เสี่ยง
สำหรับ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือคลิกเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th