กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สำนักงาน กปร.
พลเอก ธีรชัย นาควานิช องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การบริหารจัดการน้ำโครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ การดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ตำบลบ้านตูลโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลวังอ่าง และฝายคลองไม้เสียบ ตำบลเกาะขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรและการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นองคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับเยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ ของเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากตลอดจนปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ประกอบกับการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมและไม่คำนึกถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมนำไปสู่วิกฤตทางธรรมชาติ จึงได้พระราชทานพระราชดำริในการวางแนวทางโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบลุ่มน้ำ เป็นการพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบผสมผสานโดยมีการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาอาชีพ ควบคู่กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และจากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดให้กับราษฎร พร้อมกับก่อสร้างคลองระบายน้ำหลัก 4 สาย เพื่อควบคุมการระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้วันละประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำท่วมขังออกจากคลองสายหลักได้ภายใน 20 วัน นอกจากนี้ยังได้กำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินที่ถูกต้องและชัดเจน เพื่อแยกพื้นที่ใช้น้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน รวมถึงการพัฒนาระบบชลประทานทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการใช้น้ำ ส่งผลให้เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวได้มากขึ้นจำนวน 400,000 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาอาชีพอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ การทำสวนไม้ผล ไร่นาสวนผสม การเลี้ยงปลา การปลูกต้นจาก ปลูกผักปลอดสารพิษ นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟูจนเกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์ ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยึดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ศึกษาฯ มาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการขยายผลการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงโดยมีการบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมพัฒนาแบบผสมผสานโดยยึดหลักสำคัญคือ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต้องพัฒนาอย่างมีระบบพร้อมไปกับการพัฒนาองค์กรเกษตรกร เพื่อสร้างตัวแบบการพัฒนาซึ่งปัจจุบันมีการขยายผลสำเร็จจนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 9 แห่ง
จากนั้นคณะฯได้ติดตามการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ พร้อมกับรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ และร่วมปล่อยปลา พร้อมกับปลูกต้นไม้ ในช่วงบ่าย องคมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปยังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ตำบลบ้านตูล อำเภอชะอวด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าพรุควนเคร็ง อยู่ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังฯ โดยดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกและควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็งในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ด้วยการป้องกันปราบปรามการกระทำผิด ยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตห้ามล่า จัดทำโครงการปลาดุกลำพันคืนถิ่น คือการสงวน อนุรักษ์ และขยายพันธุ์ปลาดุกลำพันเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และโครงการขุดแพรกเพื่อทำแนวป้องกันรักษาป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ
จากนั้นองคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการฝายคลองไม้เสียบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอวด ซึ่งเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำปากพนัง และเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานวินิจฉัยเกี่ยวกับโครงการชลประทานในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ความว่า โครงการเขื่อนเก็บน้ำห้วยน้ำใส เป็นโครงการระยะยาวต้องใช้เวลาก่อสร้าง ฉะนั้นเห็นควรพิจารณาก่อสร้างฝายทดน้ำ หรือเขื่อนทดน้ำคลองไม้เสียบ พร้อมระบบส่งน้ำเร่งด่วนก่อนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งคลองไม้เสียบ และเมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสแล้วเสร็จก็จะช่วยสนับสนุนโครงการชลประทานฝายคลองไม้เสียบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้คณะฯ รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและพบปะราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ