กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--นานมี
กลุ่มบริษัท นานมี จัดโครงการ "ฮอร์ส นักเขียนน้อย : สนุกคิด สนุกเขียน…รายวัน" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีน้องๆ เยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน แบ่งการประกวดเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ระดับอายุ ระหว่าง 7-9 ปี และกลุ่มที่ 2 ระดับอายุ ระหว่าง 10-12 ปี เพื่อปลูกฝังนิสัยให้เด็กไทยฝึกการคิดเรียนรู้และรักการเขียนตั้งแต่วัยเด็ก โดยมี ด.ญ.เรไร สุวีรานนท์ เจ้าของเพจชื่อดัง เรไรรายวัน ซึ่งเป็นนักเขียนเด็กที่มีชื่อเสียงด้านการเขียนบันทึกประจำวันร่วมให้กำลังใจเพื่อนๆ และยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมฟังการเสวนาจากประสบการณ์ตรงของคุณชนิดา สุวีรานนท์ คุณแม่น้องเรไร และอาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก ร่วมถ่ายทอดและแบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้รู้จักคิดและเขียนอย่างสร้างสรรค์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ
นาง ปรีญาณี สุพุทธิพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทนานมี เล่าว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยเห็นความสำคัญของ "การคิด" และ "การเขียน" ซึ่งจะช่วยพัฒนาสมองทั้งสองด้านของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเสริมศักยภาพของเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดีในทุกด้าน รวมทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาให้คงอยู่อย่างมีคุณค่าและภาคภูมิใจในภาษาไทยภาษาประจำชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากน้องต้นหลิว ด.ญ.เรไร สุวีรานนท์จากเพจ "เรไรรายวัน" พร้อมกับคุณแม่มาถ่ายทอดเทคนิคสำคัญในการคิดและเขียนให้กับเพื่อนๆ โดยการประกวดในวันนี้เด็กๆจะได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ และรวบรวมความรู้จากการศึกษาทุกเรื่องราวในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อเลือกเรื่องที่ประทับใจมาเขียนเล่าเป็นบันทึกประจำวัน ซึ่งเชื่อว่าเด็กๆจะสามารถสร้างงานเขียนชิ้นเอกในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างน่าประทับใจ"
คุณชนิดา สุวีรานนท์ คุณแม่น้องเรไร และอาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก กล่าวว่า ในการฝึกลูกให้คิดและเขียนเป็น เริ่มจากมุมมองความคิดก่อนว่าให้ลูกรู้จักกับโลกที่มีทั้งด้านดีและด้านร้าย ไม่ได้ปกป้องลูกให้อยู่แต่ในโลกสวยหรือโลกที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่สอนให้ลูกเรียนรู้วิธีการรับมือเมื่อต้องเผชิญกับโลกในด้านลบ โดยจะดูแลอยู่ห่างๆ ให้เด็กลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน เมื่อเห็นว่าโจทย์ชีวิตยากขึ้นจึงค่อยยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อฝึกให้ลูกมีความมั่นใจในตนเองและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ ส่วนการปลูกฝังด้านการเขียนนั้น เริ่มจากการไม่บังคับแต่เป็นการค่อยๆฝึกฝนทีละนิด มีการมีระเบียบความคิดอย่างเป็นระบบ วางกรอบเรื่องราวที่จะเขียน ทำเป็นดราฟ(ร่าง) เป็นคำ และเป็นประโยค แล้วจึงนำมาเชื่อมต่อกันเป็นเรื่องราว ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างทัศนคติที่ดีในการเขียน รู้สึกสนุกและมีความสุขทั้งตัวเด็กเองและตัวพ่อแม่ ทำให้เป็นการสนุกคิดและสนุกเขียน ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นด้วย