กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐ น. นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการวัฒนธรรมเชื่อมใจชายแดนใต้สันติสุข วิถีตานี วิถีอาเซียน การจัดนิทรรศการ "กริชาภรณ์" ณ โรงแรม ซี. เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีนายขจร มุกมีค่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และตัวแทนเครือข่ายทางวัฒนธรรมประเทศอาเซียน ประชาชนเข้าร่วม ภายในงานมีการบรรยาย สาธิต และชมนิทรรศการศิลปะการปักผ้าโบราณอย่างราชสำนักอยุธยา การอบร่ำผ้า แป้งพวง นิทรรศการเครื่องแต่งกายในประวัติศาสตร์ ศิลปะการต่อสู้ (ซีลัต) การเดินแบบเครื่องแต่งกาย ๕ มณฑล ๕ รัฐ (มณฑลปัตตานี, นครศรีธรรมราช, ไทรบุรี, ชุมพร, ภูเก็ต/รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ปาหัง ,เคด้า ,ปีนัง และแบบอย่างอยุธยา) นิทรรศการวัฒนธรรมการใช้โสร่ง นิทรรศการจารีตการแต่งกายตามธรรมเนียมปฏิบัติ นิทรรศการวัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยอยุธยา ฯลฯ
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายในการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสร้างคนเป็นคนดี สังคมปรองดอง สมานฉันท์ สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างภาพลักษณ์เกียรติภูมิของไทยสู่เวทีโลก ทำให้ประชาชนในท้องถิ่น เกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมในการสืบสาน ปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรม นำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ดังนั้น วธ. จึงบูรณาการร่วมกับจังหวัดปัตตานี หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสมาชิกอาเซียน จัดงานนี้ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รูปแบบ การผลิตและการสะสมกริช ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมรดกร่วมในการสร้างความสัมพันธ์ของอาเซียน เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเข้าใจและตระหนักเห็นถึงความสำคัญของผ้าปัตตานี ส่งเสริม สนับสนุน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรมการแต่งกาย และเพิ่มบทบาทขององค์กรเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ งานนี้จึงเป็นงานที่รวมศาสตราวุธและอาภรณ์โบราณระดับอาเซียน และตัวอย่างเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยา ตามรอยละครบุพเพสันนิวาสอีกด้วย
ปลัด วธ. กล่าวต่อไปว่า การจัดงาน "กริชาภรณ์" ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากนักวิชาการด้านกริช ผ้าและเครื่องแต่งกาย จากประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องโลหะในประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก นับเป็นโอกาสอันดีที่นอกจากผู้เข้าร่วมงานจะได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง อาวุธโบราณ กริช ผ้า และเครื่องแต่งกายแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากความคิดเห็นของทุกฝ่าย รวบรวมเป็นองค์ความรู้เผยแพร่สืบทอดต่อไป