กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ไทยออยล์
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน จากอุปสงค์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2561
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 – 30 มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นได้ทยอยกลับมาดำเนินการผลิต ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่ยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคายังเผชิญกับแรงกดดันจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและคาดจะแตะระดับเหนือ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปลายปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้น หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากกำลังการกลั่นของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.7 จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนที่ 16.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยระดับความร่วมมือระหว่างทั้งสองกลุ่มในเดือน ก.พ. แตะระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มข้อตกลงที่ร้อยละ 138 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5 จากเดือนก่อนหน้า นำโดยความร่วมมือของกลุ่มโอเปกที่ปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 147 หลังปริมาณการผลิตของเวเนซุเอลาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปีที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันและมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ถดถอยของประเทศ
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 มาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตในไตรมาส 4/2561คาดจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะแซงหน้ารัสเซียกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก
- จับตาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นหรือไม่ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 20 - 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ไปอยู่ที่ช่วง 1.50 – 1.75% และมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในช่วง 2.0 -2.5% ในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น และกดดันราคาน้ำมันดิบ
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการของจีน
GDP ไตรมาส 4/60 ของสหรัฐฯ และดัชนีรายจ่ายในการบริโภคของบุคคลของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 – 23 มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 2.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น หลังซาอุฯ กล่าวว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านกับชาติมหาอำนาจในปี 2558 เป็นข้อตกลงที่มีข้อบกพร่อง ส่งผลให้ตลาดคาดว่าอาจจะมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน