กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตไทยประจำกรุงเวียนนา ตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับเมืองสู่นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based innovation) และ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจำเป็นจะต้องบูรณาการกันหลายหน่วยงาน โดยมีกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในโลกเป็นโมเดล ด้วยแนวคิด ใช้ทรัพยกรน้อยที่สุด ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จึงได้จัดเสวนาเรื่อง "SMART City and Urban Innovation : Future Trends of Global Cities" โดยมี นางมาเรีย วาสิลาโค รองนายกเทศมนตรีกรุงเวียนนา นายเออเก็น อันโลฟสกี้ ผู้บริหารเมืองนวัตกรรมกรุงเวียนนา นางแองเจลิกา วิ้งค์เคลอ รองอธิบดีเทศบาลกรุงเวียนนา และนายจอร์ดี้ มาลาเควอ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าและการลงทุนคาตาโลเนีย ประเทศสเปน ร่วมเสวนากับผู้แทนหน่วยงานจากไทยได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธี งานจัดเมื่อวันเร็ว ๆนี้ ณ ห้องพิมานแมน ชั้น 2 โรงแรมอนันตรา สยาม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) โทร. 0 2017 5555 หรือเว็บไซต์สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ www.nia.or.th
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล เป็นรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยสาธารณรัฐออสเตรียจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเป้าหมายของประเทศไทยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก 9 ปีซ้อน ดังนั้นความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสาธารณรัฐออสเตรียจึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทย สามารถส่งเสริมให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมืองใหญ่ทั้งในด้านทรัพยากร นวัตกรรมและคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้กำหนดนโยบายสำคัญ"นโยบายสนับสนุนทางด้าน Smart City" ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง 3 ส่วน ได้แก่ ด้านดิจิทัล ด้านการคมนาคมและขนส่ง และด้านพลังงาน ประกอบ 6 สมาร์ท ได้แก่ Smart mobility, Smart energy and environment, Smart economy, Smart living, Smart people และ Smart governance โดยนำร่อง 7 จังหวัดเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น พื้นที่ EEC ได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เกิดขึ้นภายใน 5 ปี พร้อมทำแผนแม่บทระยะยาว 5,10,15 และ 20 ปีควบคู่ไปด้วย ดร. พิเชฐ กล่าว
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กล่าวว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการแข่งขันเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศน์ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเริ่มต้นขึ้นทั่วโลก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความสำคัญการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based innovation) และ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจำเป็นจะต้องบูรณาการกันหลายหน่วยงาน จึงร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการต่างประเทศในการดำเนินการสนับสนุนให้เกิดการรับรู้ในระดับชาติและระดับสากลเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการยกระดับเมืองในประเทศไทยและเป็นกลไกสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสในการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้ดีขึ้น
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า สำหรับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) มีแผนในการดำเนินการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ (Innovations District) เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน ได้แก่
- ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่นำร่องในแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Southern Economic Corridors: EWEC) เชื่อมโยงสินค้า วัฒนธรรม แหล่งความรู้ ระหว่างทะเลอันดามันและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเป้าหมายในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ การท่องเที่ยว การค้า การขนส่ง และการเกษตร
- เมืองนวัตกรรม (Innovation City) ได้ริเริ่มโครงการ "ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ" (IOT City Innovation Center) โดย สนช. ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการเข้าถึงและใช้งานระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลักดันธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- ย่านนวัตกรรม (Innovation District) มีการพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 11 แห่ง ได้แก่ โยธี ปทุมวัน คลองสาน กล้วยน้ำไท รัตนโกสินทร์ ลาดกระบัง บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา-บ้านฉาง และ ย่านปุณณวิถี และจะขยายอีก 4 พื้นที่ซึ่งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ด้วย โดยแต่ละย่านนวัตกรรมก็จะมีบทบาทแตกต่างกันไป ทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ 1. นวัตกรรมสำหรับภาครัฐ 2. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ 3. เทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ 4. เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเมือง 5. ฟินเทค 6. ศูนย์กลางผลิตและวัสดุขั้นสูง 7. ไอซีทีและการใช้สื่อ 8. การขนส่ง และ 9. วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์
นางมาเรีย วาสิลาโค รองนายกเทศมนตรีกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กล่าวว่า แม้ว่าสาธารณรัฐออสเตรียมีจุดแข็งด้านการวางระบบบริหารจัดการเมืองใหญ่ โดยกรุงเวียนนา ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก (The Most Livable City in the World) และเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมทุกรูปแบบเข้าเป็นระบบเดียวกัน แต่ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาเมืองเพราะตระหนักดีว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของปัจจัยต่างๆ ที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมือง เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด หรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของมาตรการการพัฒนาเมืองเวียนนาภายใต้ชื่อสมาร์ท ซิตี้ เวียนนา (Smart City Vienna) มีการแบ่งช่วงการดำเนินการออกเป็นระยะสั้น (Action Plan for 2012-2015 ) ระยะกลาง (Roadmap for 2020 and Beyond) และระยะยาว (Smart Energy Vision 2050) โดยมุ่งจัดตั้งเป้าหมายในการปรับปรุงการออกแบบ การพัฒนา และยกระดับภาพลักษณ์ในทุกๆ ด้านของเมือง เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และคมนาคม ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนด้วยพันธกิจ 1) ต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด 2) มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านระบบนิเวศที่สูง 3) มีความรับผิดชอบ ต่อสังคม และ 4) เน้นการมีส่วนรวมของประชาชนให้มากที่สุด
นางมาเรีย กล่าวต่อว่า สมาร์ท ซิตี้ เวียนนา จะคำนึงใน 3 มิติ เพื่อให้ประชาชนของเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ
- ด้านทรัพยากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน คมนาคม การก่อสร้างอาคาร ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- คุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมให้ประชากรในเวียนนามีสุขภาพจิตและชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี มีการดูแลด้านการแพทย์ที่สูง ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อม
- และด้านนวัตกรรม เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลักดันให้เวียนนาเป็นหนึ่งในห้าศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรป ภายในปี ค.ศ. 2050 รวมถึงผลักดันให้เวียนนาเป็นหนึ่งในสิบภูมิภาคของสหภาพยุโรปที่มีศักยภาพในการซื้อสูง และจัดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง มีการสนับสนุนให้วัยรุ่นศึกษาต่อจากระดับการศึกษาภาคบังคับ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตไทยประจำกรุงเวียนนา จัดเสวนาเรื่อง "SMART City and Urban Innovation : Future Trends of Global Cities" โดยมี นางมาเรีย วาสิลาโค รองนายกเทศมนตรีกรุงเวียนนา นายเออเก็น อันโลฟสกี้ ผู้บริหารเมืองนวัตกรรมกรุงเวียนนา นางแองเจลิกา วิ้งค์เคลอ รองอธิบดีเทศบาลกรุงเวียนนา นายภาสกร ประถมบุตร รองประธานอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจดิจิตอล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายปริวรรต วงษ์สำราญ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายจอร์ดี้ มาลาเควอ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าและการลงทุนคาตาโลเนีย ร่วมเสวนา โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธี
งานจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องพิมานแมน ชั้น 2 โรงแรมอนันตรา สยาม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) โทร. 0 2017 5555 หรือเว็บไซต์สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ www.nia.or.th