กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--สกว.
สกว. สนับสนุนการวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมสนองความต้องการชาติ คาดภายใน 2 ปีมีผลงานให้เอกชนใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 โครงการ จดสิทธิบัตรได้อีกนับ 20 รายการ
เมื่อวันที่ 11-13 ตุลาคม 2550 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 7 ขึ้นที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี โดยมีนักวิจัยทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และรุ่นอาวุโส จากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมประมาณ 900 คน
ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว. กล่าวในการประชุมว่า นอกจากการให้ทุนแก่นักวิจัยเพื่อสร้างบันไดอาชีพนักวิจัยให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่แล้ว ปีงบประมาณ 2550 ยังเป็นปีแรกที่สกว. กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกันให้ทุนสำหรับการวิจัยวิชาการที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งส่งเสริมงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม มากกว่ามุ่งเน้นการตีพิมพ์ผลงานลงในารสารวิชาการระดับนานาชาติเพียงอย่างเดียว
“ภาคอุตสาหกรรมคือ “ผู้ใช้” งานวิจัยของเรา ซึ่งเป็นเหมือนภาคอุปสงค์ที่บอกโจทย์เรามาว่า ต้องการอะไร ส่วนเครือข่ายนักวิจัยและอุปกรณ์ต่างๆ ก็เหมือนอุปทานที่ต้องใช้ข้อมูลและความรู้สนองตอบความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ สกว.ทำหน้าที่เป็นคนจับคู่อุปสงค์กับอุปทาน ทำให้ได้ผลงานวิจัยที่ได้รับทั้งการตีพิมพ์ และมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ผอ.สกว. กล่าว
ผอ.สกว. กล่าวอีกว่า ความรู้จากการวิจัยจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เพราะความต้องการที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศมีมากมาย เช่น ภาวะโลกร้อนกับผลกระทบด้านการเกษตร ด้านสุขภาพ แม้คนที่สร้างปัจจัยให้โลกร้อนไม่ใช่เรา แต่ประเทศที่ไม่ได้สร้างปัญหาจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น ปัญหาการเกษตรจาก
การที่ฟ้าฝนแปรปรวน การเกิดโรคอุบัติใหม่ ตลอดถึงการกีดกันทางการค้า ที่บริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ๆ จะบังคับให้เราต้องให้ข้อมูลว่า เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปีละเท่าใด และมีแผนการลดอย่างไรบ้าง ถ้าลดไม่ได้เขาก็ไม่ซื้อสินค้าจากเรา โจทย์เหล่านี้ล้วนต้องการข้อมูลวิจัยและวิทยาศาสตร์ในการตอบและการเจรจาทั้งสิ้น ขณะนี้ทางสกว. ได้รับโจทย์จากภาคเอกชนนับร้อยโจทย์ แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านใดอยู่ที่ไหนบ้าง จึงอยากขอให้นักวิจัยไทยไปลงทะเบียนนักวิจัยไว้ใน www.biodata.or.th เพื่อ สกว. จะได้มอบโจทย์วิจัยให้ได้อย่างเหมาะสม
ศ.ดร. วิชัย บุญแสง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวถึงทิศทางการสนับสนุนการวิจัยของฝ่ายวิชาการว่า ฝ่ายฯ ให้ทุนวิจัยเชิงวิชาการมาตั้งแต่ปี 2537 ขณะนี้จึงสามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม มีผู้ได้รับทุน 31 โครงการจากผู้สมัครทั้งสิ้น 88 โครงการ ใช้งบประมาณไปราวๆ 60 ล้านบาท โดยได้รับเงินสนับสนุน
จากภาคเอกชน 6 ล้านบาท และการสนับสนุนที่ไม่เป็นตัวเงิน (เช่น การส่งบุคลากรมาช่วยนักวิจัย การให้ใช้เครื่องมือ การซื้อสารเคมีให้ ฯลฯ) อีกราว 19 ล้านบาท สำหรับปีนี้ สกว. ก็เตรียมงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไว้แล้ว 54 ล้านบาท และคาดว่าจะให้ได้ราวๆ 30 ทุน
ศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ สกว. กล่าวว่า ภายในสองปีนี้ คาดว่าสกว.จะมีงานวิจัยที่ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่ำกว่า 5-6 โครงการ อาทิ โครงการอนุภาคซิลเวอร์นาโนสำหรับสิ่งทอที่สกว.ให้ทุนวิจัยร่วมกับบริษัทนันยางการทออุตสาหกรรมจำกัด ผู้วิจัยคือ รศ.ดร. สนอง เอกสิทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการการนำโปรตีนซิริซินจากรังไหมไปทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งวิจัยโดยดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นอกจากนี้ เมื่อดูจากผลการประเมินโครงการวิจัยโดยผู้ทรงคุณวุฒิ คาดว่าน่าจะมีงานวิจัยที่จดสิทธิบัตรได้อีกประมาณ 20 โครงการ