กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 4 จังหวัด 11 อำเภอ 23 ตำบล 80 หมู่บ้าน โดยที่จังหวัดเชียงใหม่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงมีน้ำท่วมขังใน 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด กาฬสินธุ์ และพิษณุโลก สำนักงานปภ.จังหวัด ในพื้นที่ประสบภัยได้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยด่วนแล้วพร้อมเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนัก ในระหว่างวันที่ 28 ก.ย. — 2 ต.ค. 50 ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก กาฬสินธุ์ และตราด ราษฎรเดือดร้อนประมาณ 9,364 คน 3,198 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 1 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 5 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,500 ไร่ ความเสียหายด้านอื่นๆอยู่ระหว่างการสำรวจ สถานการณ์ปัจจุบัน ภาวะน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ (อ.แม่วาง) ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด ที่ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 — 2 ตุลาคม 2550 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่เกษตรใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาสมิง 3 ตำบล และอำเภอเมือง หากฝนไม่ตกลงมาอีก คาดสถานการณ์ จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 — 2 วันนี้ ส่วนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำติดกับลำน้ำปาว จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด และอำเภอฆ้องชัย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากประจำทุกปี และจะยังมีน้ำท่วมขังต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะที่จังหวัดพิษณุโลก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ และอำเภอบางกระทุ่ม โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้ประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาชิก อปพร. เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ พ.ศ.2546 (งบ 50 ล้านบาท) และได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่กรม ปภ. ศูนย์ ปภ.เขตและสำนักงาน ปภ. จังหวัด ในเขตรับผิดชอบ หรือสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป