พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จ ฯ ไปทรงเป็นประธานและทรงประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.๙๙๒ และ เรือ ต.๙๙๓ ลงน้ำ

ข่าวทั่วไป Monday September 3, 2007 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงประกอบพิธีปล่อยเรือ เรือ ต.๙๙๒ และ เรือ ต.๙๙๓ ลงน้ำ ในวันพฤหัสบดีที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ อู่เรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในปี ๒๕๕๐ กองทัพเรือ จึงได้จัดโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในนามของพสกนิกรชาวไทย และเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านการต่อเรือ โดยทรงมีพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของ กองทัพเรือ มาโดยตลอด นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.๙๑ - ต.๙๙ จำนวน ๙ ลำ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ - ๒๕๓๐ ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ในการนี้ กองทัพเรือ ได้ยึดถือแนวทางตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๕ ว่า "เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือ จึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้าง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม" กองทัพเรือจึงได้เร่งดำเนินการสนองแนวพระราชดำรัส โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องขนาด รูปทรง และน้ำหนักของเรือ รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิงและการออกแบบ เพื่อให้เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่มีสมรรถนะสูงสุดในการปฏิบัติการทางทะเล ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่ จำนวน ๑ ลำ ส่วนอีก ๒ ลำ ได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน ทำการจัดสร้าง เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ฯ ทั้ง ๓ ลำ นี้ จะมีรูปร่างและคุณลักษณะเหมือนกันทุกประการ และมีกำหนดแล้วเสร็จให้ทันร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่จะทรงมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยกองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานและทรงประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.๙๙๑ ลงน้ำ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐
สำหรับเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ฯ ลำที่ ๒ และลำที่ ๓ พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙ โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด ทำการต่อเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ และถือเป็นบริษัทต่อเรือระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่มีประสบการณ์ยาวนานร่วม ๓๐ ปี มีผลงานการต่อเรือที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล รวมถึงได้ผ่านการประเมินศักยภาพของอู่เรือ จากคณะผู้เชี่ยวชาญของจากกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการสร้าง พร้อมทั้งส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับโครงการที่มีความสำคัญนี้ ให้กับกรมอู่ทหารเรือ เพื่อให้เรือทั้ง ๓ ลำ มีอุปกรณ์ที่เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำให้สะดวกและง่ายต่อการรักษาแล้วยังช่วยลด ต้นทุนได้ส่วนหนึ่งอีกด้วย โดยภายหลังจากพิธีปล่อยเรือลงน้ำแล้ว กองทัพเรือจะทำการทดสอบเรือหน้าท่าและ ทำการทดลองเรือในทะเลเพื่อทดสอบสมรรถนะและคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ต่อไป
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ฯ เป็นเรือที่กองทัพเรือจัดสร้างเพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๑๑ ซึ่งใช้ราชการมานานแล้ว โดยจะสังกัดกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่ พระบรมวงศานุวงศ์ โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด ทำการต่อเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ และถือเป็นบริษัทต่อเรือระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่มีประสบการณ์ยาวนานร่วม ๓๐ ปี มีผลงาน การต่อเรือที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล รวมถึงได้ผ่านการประเมินศักยภาพของอู่เรือ จากคณะ ผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือ พร้อมทั้งส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับโครงการที่มีความสำคัญนี้ ให้กับกรมอู่ทหารเรือ เพื่อให้เรือทั้ง ๓ ลำ มีอุปกรณ์ที่เหมือนกัน เพราะนอกจากจะทำให้สะดวกและง่ายต่อการรักษาแล้วยังช่วยลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่งอีกด้วย
คุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.๙๙๑ เป็นเรือที่มีความยาวตลอดลำ ๓๘.๗ เมตร กว้าง ๖.๔๙ เมตร ความลึก กลางลำ ๓.๘๐ เมตร กินน้ำลึกเต็มที่ ๑.๘๐ เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ประมาณ ๑๘๖ ตัน ความเร็วสูงสุด ๒๗ น๊อต และมีระบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรใหญ่ดีเซลเรือ จำนวน ๒ เครื่อง ระยะปฏิบัติการ ๑,๕๐๐ ไมล์ทะเล สามารถปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า ๗ วัน สำหรับอาวุธประจำเรือ ประกอบด้วย ปืนกลขนาด ๐.๕๐ นิ้ว จำนวน ๒ กระบอก และขนาด ๓๐ มม. จำนวน ๒ กระบอก พร้อมเครื่องควบคุมการยิงแบบ Optronic อีก ๑ กระบอก มีกำลังพลประจำเรือทั้งสิ้น ๒๙ นาย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.navy.mi.th)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ