สวทช. เสริมศักยภาพเอกชนไทย พัฒนานวัตกรรม “Wireless Sensor Geteway - อุปกรณ์ประหยัดพลังงานผ่านอินเตอร์เน็ต”

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday November 6, 2007 16:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ออล อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลจีส
สวทช. เสริมศักยภาพเอกชนไทย พัฒนานวัตกรรม “Wireless Sensor Geteway - อุปกรณ์ประหยัดพลังงานผ่านอินเตอร์เน็ต
‘ออลไอที’ เพิ่มค่าเทคโนโลยีสารสนเทศไทย สร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยฯ พัฒนาเครื่องควบคุมอุปกรณ์ทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตบนมือถือ หรือ ‘ Wireless Sensor Geteway ’ ที่ประหยัดพลังงาน นำมาประยุกต์ใช้ได้กับงานทุกรูปแบบทั้งภาคเกษตร ฟาร์ม - เครื่องใช้ภายในบ้าน และยังใช้เป็นระบบเตือนภัยทางทะเลได้อีกด้วย พร้อมพัฒนา ‘อุปกรณ์บอกพิกัด (GPS)’ ที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาตำแหน่งที่แม่นยำและเที่ยงตรงแม้ในที่อับสัญญาณรายแรกของโลก ช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวัน สะดวกสบายและรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของโครงการ iTAP (สวทช.)
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) มีส่วนช่วยพัฒนาขีดความสามารถการทำงานและการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และเพื่อรองรับความต้องการที่ไม่หยุดนิ่ง โดยขณะนี้ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทำหน้าที่สั่งการและควบคุมระบบการทำงานต่างๆ ทั้งภายในบ้านและสำนักงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก และใช้ค้นหาบุคคลหรือสิ่งของที่ต้องการได้ทั่วทุกมุมโลกได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำยิ่งขึ้น
บริษัท ออล อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลจีส จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ( ปี ค.ศ.2001 ) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นบริษัทของคนไทย 100% โดยมี คุณเรเน่ พิทยธาราธร เป็นประธานกรรมการ ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไอที
นางธนวรรณ พิทยธาราธร รองประธานกรรมการ บริษัท ออล อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลจีส จำกัด เล่าถึงการที่ตัดสินใจย้ายฐานมาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นว่า “ นอกจากที่นี่จะเป็นบ้านเกิดแล้วคิดว่าน่าจะมีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่มีบุคลากรทางด้านวิศวกรซึ่งเป็นแรงงานที่บริษัทต้องการเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกอบกับบริษัทฯ ในฐานะเป็นผู้ผลิต หรือ OEM ภายใต้แบรนด์ลูกค้า และภายใต้แบรนด์ “ All IT ” ของบริษัทฯ เอง ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปจึงเป็นการส่งออกเกือบ 100% ”
“ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและบางผลิตภัณฑ์ยังเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครผลิตมาก่อน และมองไปถึงความต้องการในอนาคต จึงไม่เคยหยุดนิ่งในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านไอทีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นที่สนใจสำหรับกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศมากกว่า แม้บริษัทฯ ต้องการผลิตสินค้าสำหรับใช้ในประเทศไทยให้มากขึ้นก็ตาม แต่คงต้องรออีกระยะหนึ่งเพราะต้องมีผู้แทนจำหน่ายที่มีความรู้และเข้าใจระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาทำการตลาดในประเทศด้วย ”
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ที่เน้นความเป็นนวัตกรรม อาทิ Mobile Rescue Equipment หรือ MRE ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ค้นหาและตรวจสอบตำแหน่งของบุคคล หรือสิ่งของไม่ว่าจะอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ที่สำคัญสามารถค้นหาได้แม้ภายในตึกสูง หรือในที่อับสัญญาณ ซึ่ง GPS ทั่วไปไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทมีอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ถึง 12 ช่องพร้อมๆ กัน โดยเชื่อมต่อกับระบบ MRE ของบริษัททำให้การค้นหาตำแหน่งที่ต้องการมีความละเอียดเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น และมีขนาดที่กะทัดรัด แต่เนื่องจากต้องใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือทำให้ผู้ใช้ไม่สะดวกในการพกพาถึง 2 เครื่อง
บริษัทฯ จึงได้ปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้โดยนำเอาระบบ GSM เข้ามาเพิ่มกับอุปกรณ์ MRE เรียกผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ว่า “ KITTO CARTRACKING” สำหรับติดตั้งในรถยนต์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ จึงต้องการให้สามารถใช้ GPS ได้โดยไม่ต้องมีโทรศัพท์มือถือ และต้องการให้อุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตามรวมอยู่ในอุปกรณ์เดียวกัน รวมทั้งพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่ยังไม่มีเคยมีใครทำมาก่อนเพิ่มเติมเข้าไป
ดังนั้น ทางบริษัทฯ ได้มาเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ในโครงการศึกษาการทำงานและพัฒนาเครื่องต้นแบบของ MRE - AGRS01 และ GSM (GPS+GSM) ระยะที่ 1 โดย iTAP ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้ามาให้คำปรึกษา 2 ท่านจากในประเทศไทยและจากประเทศออสเตรีย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ขณะนี้ สามารถพัฒนาฟังก์ชั่นต่างๆ เข้ากันได้สำเร็จ เหลือเพียงทำแผนวงจรใหม่เท่านั้น คาดว่า นวัตกรรมดังกล่าวจะออกสู่ตลาดได้ราวปลายปี 2550
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้พัฒนาอุปกรณ์เซนเซอร์ที่จะช่วยผู้ใช้สามารถควบคุมหรือรับข้อมูลจากเซนเซอร์โดยผ่านทางอินเตอร์เน็ตหรือมือถือได้โดยไม่ต้องเปิดคอมพิวเตอร์ไว้ตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์เซนเซอร์มากมายหลายชนิด แต่ยังไม่มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถรับสัญญาณข้อมูล หรือแม้แต่ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยผ่านทางอินเตอร์เน็ต
ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ บริษัทคาดว่าจะมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการควบคุมอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้าน หรือที่ทำงานเพื่อการประหยัดพลังงาน และเพื่อความปลอดภัย อาทิ กรณีที่ลืมปิดน้ำ ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่ควบคุมการเปิด-ปิดประตู และหน้าต่างก็สามารถสั่งการโดยผ่านอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือได้ทันทีไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลก รวมถึงสามารถนำไปใช้กับเซนเซอร์ป้องกันไฟไหม้ หรือกรณีมีผู้บุกรุกก็สามารถใช้ได้ โดยเซนเซอร์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณไปยังสถานีดับเพลิง และเจ้าของบ้าน หรือ เจ้าของอาคารได้โดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Wireless Sensor Geteway ซึ่งจะทำให้เจ้าของบ้านสะดวกสบายและอุ่นใจมากขึ้น
โดย iTAP จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทฯ ในโครงการพัฒนา Wireless Sensor Geteway นอกจากบริษัทจะได้รับคำปรึกษาที่เป็นองค์ความรู้ใหม่จากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ไร้สาย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สามารถจำหน่ายได้แล้ว บริษัทฯ ยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาต่อยอดในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคต อาทิ การพัฒนาเซนเซอร์ที่สามารถควบคุมอุปกรณ์การทำงานภายในบ้านได้ทั้งหมดด้วยรีโมทคอนโทลเพียงอันเดียว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามารองรับกับชีวิตประจำวันได้ในอนาคต โดยบริษัทฯเตรียมแผนออกตลาดภายในต้นปีหน้า
นางธนวรรณ กล่าวว่า “ เรื่องของเทคโนโลยีนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา (R&D) และบริษัทงก็มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากการวิจัยฯ ซึ่งกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาต้องใช้เวลานาน 1 — 2 ปี และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยค่อนข้างสูง ถือเป็นปัญหาหนึ่งของภาคเอกชน โครงการ iTAP ของสวทช. จึงถือเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านนี้ นอกจากจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้และช่วยเอกชนวิจัยและพัฒนาแล้วยังให้การสนับสนุนในเรื่องของทุนซึ่งปกติเอกชนมักขาดการเหลียวแลในเรื่องเหล่านี้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิจัยหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากกว่า ดังนั้นการที่มีโครงการ iTAP เข้ามาสนับสนุนทำให้บริษัทไม่รู้สีกโดดเดี่ยวอีกต่ไป และเมื่อไหร่ที่มีปัญหา iTAP ก็ยังเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทำให้อุ่นใจกับการทำวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น ”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัท ประกอบด้วย อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย Wireless , เครื่องมือทดสอบแผงวงจร( Automated Testing Device ) , อุปกรณ์ตรวจสอบสถานะและคุณภาพของแบตเตอร์รี่โทรศัพท์มือถือ ( Battery Tester ) , อุปกรณ์บอกพิกัด (GPS) อาทิ MRE-AGPS , Kitto Cartracking และ อุปกรณ์ควบคุมการทำงานด้วยระบบ Sensor ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองได้เรียกว่า Carrot Sensor Famiry สามารถใช้ได้กับภาคเกษตรกร , ไร่ , สวน รวมทั้งฟาร์ม , โรงเลี้ยงไก่ , และยังพัฒนาเป็นอุปกรณ์สำหรับการเตือนภัยทางทะเลได้ เช่นการวัดระดับความสูงของคลื่นสึนามิ ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีการผลิตไร้สายทั้งสิ้น
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณธนวรรณ พิทยธาราธร บริษัท ออล อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลจีส จำกัด
โทรศัพท์ 043-342-989 โทรสาร 043-342-988 มือถือ 086-580-0710 หรือที่เว็บไซต์ www.allit.info

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ