ขัง และจำคุกนอกเรือนจำ มาตรการใหม่แก้ไขนักโทษล้นคุก

ข่าวทั่วไป Thursday November 8, 2007 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สกธ.
เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง การขังและจำคุกนอกเรือนจำ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติกรรม (สกธ.) ณ โรงแรมสยามซิตี้ ทั้งนี้เพื่อหามาตรการการปฏิบัติในการควบคุมผู้ต้องขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาล อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ ฯลฯ
เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังมีจำนวนมากเกินกว่าจะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และทำให้ระบบราชทัณฑ์มีปัญหาในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2550 เพื่อปรับปรุงวิธีการขังและจำคุก โดยกำหนดวิธีการหรือสถานที่ในการขังหรือจำคุกนอกเรือนจำให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ต้องขัง รวมถึงการปรับปรุงการทุเลาการบังคับโทษจำคุก โดยในมาตรา 89/1 เป็นกรณีของผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณา ให้ศาลอาจสั่งให้ถูกควบคุมในสถานที่อื่นนอกเรือนจำได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุม และมาตรา 89/2 เป็นกรณีผู้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาและรับโทษไปแล้ว 1 ใน 3 ศาลอาจสั่งให้จำคุกในสถานที่อื่นได้ หรือให้จำคุกเฉพาะวันที่กำหนด หรือกำหนดวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ต้องจำคุกได้ ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมต้องออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมในการควบคุม รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจำคุกเฉพาะวัน และการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ต้องจำคุกด้วย และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
รศ.พงษ์กฤษณ์ มงคลสินธุ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การกำหนดหรือเลือกสถานที่ควรให้มีความสอดคล้องกับลักษณะของผู้ต้องขัง เช่น กรณีผู้ต้องขังเป็นผู้ป่วย หรือเป็นโรคร้ายแรง สถานที่คุมขังแทนเรือนจำควรเป็นโรงพยาบาล ผู้ต้องขังที่มีความผิดปกติ เช่น ติดยาเสพติด ควรจัดให้อยู่ในศูนย์บำบัด หรือในกรณีผู้ต้องขังเป็นคนต่างด้าว ควรให้คุมขังในศูนย์ส่งกลับหรือสถานกักกัน เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้ต้องขังบางกลุ่มที่มีการพิจารณาให้สามารถถูกคุมขังนอกเรือนจำได้ อาจมีระบบการควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) ซึ่งยังต้องมีการพิจารณาในแง่ของเศรษฐกิจ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างคนรวยและคนจน แง่วัฒนธรรม และความเชื่อมั่นของคนในสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ต้องขังที่ถูกต้องโทษในเรือนจำมีความหลากหลายมาก เช่นผู้กระทำความผิดด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำความผิดด้วยความขาดสติ ไม่ได้ตั้งใจ เหล่านี้ควรมีกระบวนการลงโทษอื่น นอกเหนือจากการจำคุกเพียงอย่างเดียว จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับสังคมมากกว่า และเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐบาล
น.ส.เพลินใจ แต้เกษม หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบด้านอาชญาวิทยา กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การควบคุมผู้ต้องขังนอกเรือนจำ ถือเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามความเหมาะสม เช่น ผู้ต้องหาระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งยังไม่ใช่ผู้กระทำผิดควรจะมีสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ หรือกรณีหญิงมีครรภ์ บุคคลวิกลจริต ควรมีสถานที่ควบคุมที่เหมาะสม โดยผู้ต้องขังที่กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นเฉพาะผู้ต้องขังบางประเภทเท่านั้น ที่สามารถออกไปอยู่ข้างนอกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสังคม และในการปล่อยตัวผู้ต้องขังเราจะคำนึงถึงผู้เสียหาย รวมทั้งชุมชนและสังคมด้วย กรมราชทัณฑ์จึงมีการจัดเวทีสมานฉันท์มีการนำผู้กระทำความผิดกับผู้ได้รับความเสียหายมาพบกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน ทั้งนี้ การปล่อยตัวผู้ต้องขังจะต้องมีการวางเงื่อนไขการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสังคม และยังถือเป็นการให้โอกาส ให้อภัย กับผู้ต้องหาที่สามารถกลับตัวได้ แก้ไขได้
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบริหารโครงการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า การกักขังผู้ต้องขังไม่สามารถทำได้ตลอดไป เมื่อพ้นโทษผู้ต้องขังจะถูกปล่อยออกมา หากแต่การปล่อยผู้ต้องขังควรมีการปล่อยอย่างมีคุณภาพ และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย ดังเช่นวิธีการที่ใช้ในบ้านกาญจนาภิเษก เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับมาเป็นคนดีของสังคม โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ และวิเคราะห์ความผิดในการกรณีต่างๆ ด้วยความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำความผิด ถือเป็นการเยียวยาผู้กระทำความผิดได้ดีที่สุด ชี้ให้เห็นว่าทุกครั้งที่กระทำความผิด ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะตัวผู้เสียหายเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับครอบครัว คนรอบข้างของผู้เสียหายด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมดูแลต้องเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากผู้คุม มาเป็นครู พี่เลี้ยง หรือผู้บำบัดและเน้นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับเข้าสู่สังคม อีกทั้งการควบคุมผู้ต้องขังด้วยความเมตตา ยังช่วยป้องกันปัญหาการหลบหนีของผู้ต้องขังได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีมาตรการในการขังและจำคุกนอกเรือนจำ โดยอาจพิจารณาจากฐานความผิดและลักษณะของผู้กระทำผิด แต่ต้องมีมาตรการในการสร้างความมั่นใจให้กับสังคม และความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหรือจำคุกอย่างเท่าเทียมกัน โดยควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งควรมีมาตรการในการเบี่ยงเบนคดีอาญาออกชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ จะถูกนำเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงของกระทรวงยุติธรรม และสามารถดำเนินการใช้จริงได้ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม
โทร.0-2270-1350 ต่อ 109,113

แท็ก เรือนจำ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ