กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากเปิดเผยว่า "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ก้าวสู่ปีที่ 10 ในปี 2561 มุ่งพัฒนาสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนงานตามพันธกิจ เร่งปรับกระบวนการทำงานทั้งระบบจ่ายคืนผู้ฝาก การชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไข พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน" โดยภาพรวมของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินทั้งระบบยังเติบโตและอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเศรษฐกิจไทยปี 2560 เร่งตัวขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.9 เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 4.2 จากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่าง ๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 – 1.9 ตามราคาพลังงานและต้นทุนค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น
สำหรับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 2560 สถาบันการเงินทั้งระบบมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.19 จากร้อยละ 18.04 ในปีก่อน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงินทั้งระบบเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตามเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ร้อยละ 180.11 โดยที่สถาบันการเงินทุกแห่งมี LCR สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดที่ร้อยละ 70 อยู่มาก ขณะที่กำไรสุทธิของสถาบันการเงินทั้งระบบมีจำนวน 1.88 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ที่ร้อยละ 5.96 เป็นผลจากค่าใช้จ่ายการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมทั้งเตรียมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) ที่จะนำมาใช้ในปี 2562
ด้านสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 14.75 ล้านล้านบาท (รวมสินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงิน) เพิ่มขึ้น 1.11 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.13 จากปี 2559 โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 2.92 และเงินฝาก มีจำนวนทั้งสิ้น 13.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.09 จากปี 2559 ที่มีจำนวน 12.61 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่อยู่ในความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 35 แห่ง โดยมีจำนวน ผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 74.69 ล้านราย เพิ่มขึ้น 3.76 ล้านราย หรือร้อยละ 5.30 จากปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากประเภทบุคคลธรรมดา โดยเป็นผู้ฝากที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด อยู่ที่ร้อยละ 99.90 และที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ร้อยละ 98.21 ของผู้ฝากทั้งระบบ
ในปี 2560 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้ฝากเงิน คือ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนจากสถาบันภายใน 30 วันนับแต่วันที่สถาบันการเงิน ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยไม่ต้องมายื่นคำขอรับเงินแต่อย่างใด กำหนดความชัดเจนหนี้ที่หักหนี้ก่อนจ่ายคืนแก่ ผู้ฝากเงิน หากผู้ฝากเงินมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระเป็นจำนวนแน่นอนก่อนหรือในวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต กำหนดให้มีอำนาจกู้ยืมเงินโดยตรง นอกจากการออกตราสารทางการเงิน เพื่อให้มีแหล่งเงินเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการจ่ายคืนผู้ฝากเงิน ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน และสถาบันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมระหว่างกันได้ เพื่อให้การเตรียมการรองรับการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และกำหนดให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า "การแก้ไขกฎหมายนี้ จะช่วยให้จ่ายคืนเงินแก่ผู้ฝากเงินได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนช่วยพัฒนากลไกการคุ้มครองเงินฝาก สร้างความเชื่อมั่น และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสถาบันการเงิน อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม"
นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2560 ว่า "สถาบันได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการจ่ายคืนเงินให้กับผู้ฝากเงินได้รวดเร็ว ได้มีการทบทวนแผนในการจัดหาสภาพคล่อง ตลอดจนพัฒนาระบบจ่ายคืนผู้ฝากให้แล้วเสร็จ และจัดให้มีการทดสอบการประมวลผลข้อมูลรายผู้ฝากจากสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะสามารถดำเนินการจ่ายคืนเงินให้กับ ผู้ฝากได้ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ" โดยสถาบันได้นำเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยมาพัฒนากระบวนการทำงานและระบบการจ่ายคืน และมีแผนการทดสอบการประมวลผลข้อมูลรายผู้ฝากจากสถาบันการเงินสม่ำเสมอ เพื่อนำผลจากการทดสอบมาพัฒนากระบวนการทำงานและระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สถาบันยังได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้ตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net) ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางเตรียมการรองรับกรณีเกิดเหตุวิกฤติสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนทั่วไป สถาบันมุ่งหวังให้ประชาชนผู้ฝากเงินเข้าใจในระบบการคุ้มครองเงินฝาก และมั่นใจในการทำหน้าที่ของสถาบันในการคุ้มครองเงินฝากให้กับประชาชน โดยในปีที่ผ่านมาสถาบันได้มีการจัดทำเนื้อหาและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สถาบันการเงิน สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ เฟชบุ๊ค ยูทูป เพื่อสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนผู้ฝากเงินได้ง่ายขึ้น รวมถึงการจัดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2560 มีทุนจำนวน 120,029 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 2,915 ล้านบาท หรือเท่ากับอัตราผลตอบแทนร้อยละ 2.48 ต่อปี การลงทุนของสถาบันเน้นให้ความสำคัญทั้งความมั่นคง สภาพคล่อง และผลตอบแทน โดยสถาบันลงทุนทั้งหมดในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ซึ่งเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด
แผนยุทธศาสตร์ 4 ปี (พ.ศ.2561 - 2564) ของสถาบัน นายสาทร กล่าวว่า "สถาบันมีเป้าหมาย มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานทั้งในส่วนของงาน ตามพันธกิจและงานสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วน บุคลากร มีศักยภาพพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจ โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม" โดยสถาบันวาง แนวทางการจัดทำแผนงานปี 2561 ให้สอดคล้องกับทิศทางแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี และการดำเนินการตาม พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันอย่างแท้จริง ดังนี้
1. การจัดทำกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องกับการปรับปรุง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยสถาบันจะจัดทำกฎหมายลำดับรอง ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจาก พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. การปรับปรุงกระบวนการทำงาน และวางแผนการพัฒนาระบบงานของสถาบันโดยการนำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยมาใช้แบบบูรณาการ ตลอดจนการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล
3. การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการจัดทำรายงานข้อมูลสำหรับการจ่ายคืนผู้ฝาก ข้อมูลสินทรัพย์หนี้สินของสถาบันการเงินเพื่อการรับช่วงสิทธิ์ของสถาบัน ให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบงานตาม พันธกิจของสถาบัน
4. การศึกษาระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล และรูปแบบรายงานการวิเคราะห์ข้อมูล จะนำ Big Data Analytics มาวิเคราะห์เชิงลึกในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การสร้างการรับรู้ของประชาชน โดยการวางแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง ต่าง ๆ ที่มีความทันสมัย สามารถเข้าถึงกลุ่มประชาชนผู้ฝากเงินได้หลากหลาย เพื่อสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อระบบคุ้มครองเงินฝากอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้จะมีการปรับวงเงินคุ้มครองจาก 15 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2561 และจะปรับเป็น 5 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 และตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองจะเป็น 1 ล้านบาท หากประชาชนผู้ฝากเงินต้องสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก 1158