กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--เอสซีจี
ความสำเร็จส่วนหนึ่งของโครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที" โดยเอสซีจี จากการอนุรักษ์ต้นน้ำของชุมชน ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เดินทางมาถึงพื้นที่ปลายน้ำของชุมชนบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่มีความเข้มแข็ง แต่ประสบปัญหาจากการไม่สามารถออกหาปลาในทะเลช่วงมรสุมได้ เมื่อจะใช้คลองลัดเจ้าไหมซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนเป็นที่ทำกิน ก็พบว่าปลามีจำนวนน้อยเพราะขาดแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ เอสซีจี จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย นำนวัตกรรมบ้านปลาจากปูนทนน้ำทะเลมาช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชน พร้อมต่อยอดสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งด้วยการปลูกป่าชายเลนและหญ้าทะเล ส่งเสริมการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควบคู่การพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นให้เป็นต้นแบบ ก่อนขยายผลสำเร็จสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวถึงการสานต่อโครงการ"รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที" ในครั้งนี้ว่า จากการที่เอสซีจีได้น้อมนำพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ดังที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระราชทานแนวทางให้คนไทยร่วมสืบสานพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 9 เช่นที่ปฏิบัติสืบต่อมา จึงได้ขยายผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำ สู่ปลายน้ำของชุมชนบ้านมดตะนอยแห่งนี้
"โจทย์ของบ้านปลาที่รับมาจากชุมชนบ้านมดตะนอยต่างจากบ้านปลาแบบอื่นๆ เพราะชุมชนต้องการบ้านปลาที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งเป็นน้ำกร่อย เราจึงนำนวัตกรรมปูนทนน้ำทะเลมาใช้เนื่องจากทนต่อการกัดกร่อนจากสารคอลไรด์และซัลเฟตได้นานกว่าปูนธรรมดา ทำให้ไม่เพียงแต่จะสามารถใช้เป็นบ้านปลาใต้ท้องทะเลได้นานกว่าเท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามผลวิจัยโดยภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งยังแข็งแรงทนทาน และไม่มีส่วนประกอบที่สามารถแตกหักเสียหายกลายเป็นขยะใต้น้ำได้ ทำให้บ้านปลาที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมนี้ตอบโจทย์ของชุมชนได้อย่างดี"
ด้าน นายปรีชา ชายทุย ชาวประมงพื้นบ้านบ้านมดตะนอย เล่าถึงวิถีชุมชนของบ้านมดตะนอยว่าอยู่กันแบบพี่น้อง มีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดและมีความเข้มแข็งของชุมชน จึงได้วางแผนเรื่องการสร้างบ้านปลาร่วมกัน
ทั้งนี้ ลักษณะของบ้านปลาจากปูนทนน้ำทะเล เกิดจากความต้องการของชุมชนที่ต้องการพัฒนาจากที่เคยใช้ไม้และการซื้อท่อสำเร็จรูปขนาดใหญ่มาใช้เป็นบ้านปลา ซึ่งยังไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ดีนัก เมื่อได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับเอสซีจี จึงร่วมกันคิดว่าจะมีบ้านปลารูปแบบใดที่แข็งแรงทนทาน แต่เคลื่อนย้ายได้สะดวก และมีความสวยงามเหมาะกับการอยู่ในธรรมชาติใต้น้ำด้วย สุดท้ายจึงได้มีการออกแบบบ้านปลามาในลักษณะวงกลม ที่มีช่องขนาดหลากหลาย เพื่อให้ปลาสามารถว่ายผ่านไปผ่านมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถใช้หลบภัยได้เป็นอย่างดี
"หลังวางบ้านปลาในคลองแล้ว เราได้พูดคุยตกลงกันในชุมชนว่าจะสามารถทำประมงในเขตใดได้ หรือเขตใดยังต้องเป็นพื้นที่อนุรักษ์เนื่องจากปลายังอยู่ในวัยอ่อน และในอนาคตชุมชนก็อยากให้มีการวางบ้านปลาเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายพื้นที่อนุรักษ์และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้เราและลูกหลานชาวประมงพื้นบ้านมีแหล่งทำกินที่ยั่งยืน ซึ่งตอนนี้บ้านปลาที่เราวางลงไปก็เริ่มเห็นผล เพราะได้เห็นปลาเศรษฐกิจอย่างปลาเก๋าเพิ่มขึ้น ชุมชนก็มีรายได้จากการจับปลารอกเดียวถึง 200-300 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดีขึ้นอย่างมาก"
นายชนะขยายความว่า การวางบ้านปลาจำนวนมากในพื้นที่จะไม่ขวางหรือเปลี่ยนทิศทางน้ำ เนื่องจากก่อนการวางบ้านปลาได้มีการหารือร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ภาครัฐอย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงมูลนิธิอันดามัน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเล ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งต่อการเดินเรือและทิศทางน้ำ และได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวแล้ว เช่น การออกแบบความสูงและตำแหน่งของการวางบ้านปลาให้เหมาะสม และจะร่วมกับสถานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการวัดผลสำเร็จของโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะวางบ้านปลาในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ครบ 400 ตัวภายในปีนี้ พร้อมต่อยอดสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งด้วยการปลูกป่าชายเลนและหญ้าทะเล ส่งเสริมการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้าน นายสุพจน์ เพริดพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า "โครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที ถือเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักฯ ก็ได้มาช่วยสำรวจพื้นที่พร้อมระบุพิกัดที่จะวางบ้านปลา รวมทั้งกำหนดกติการ่วมกับชุมชนในการดูแลบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน จึงถือเป็นความภาคภูมิใจที่คนในพื้นที่ได้มาร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างยั่งยืน"
เมื่อถามถึงความคาดหวังของชุมชนบ้านมดตะนอยต่อการสร้างบ้านปลา นายปรีชาตอบว่า คือการช่วยเพิ่มแหล่งทำประมงใกล้ชายฝั่ง ทำให้ชุมชนไม่ต้องออกเรือไปหาปลาไกลๆ ที่เสี่ยงภัย และมีรายได้ที่ดีขึ้นแบบยั่งยืน เพราะโครงการนี้ได้สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมให้กลุ่มประมงพื้นบ้านได้ออกมารวมพลังกันและพึ่งพาตัวเองได้
และหวังว่าหากโครงการในพื้นที่แห่งนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะขยายผลและถ่ายทอดบทเรียนไปสู่ชุมชนอื่นๆ ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน
เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ "รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที" ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป