กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ก.พลังงาน
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะรองประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและกำหนดการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดระยอง เปิดเผยถึง ผลการประชุมร่วมกันของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งได้สรุปสาระสำคัญของแนวทางการแก้ปัญหามลพิษ และฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ในพื้นที่มาบตาพุด ได้ ดังนี้
1. การจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ภาครัฐร่วมกับเอกชนร่วมลงทุนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดประมาณ 22,000 ล้านบาท ภายในปี 2550-2554 ร้อยละ 90 เป็นการแก้ไขมลพิษ และที่เหลือจะมุ่งพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2550-2551 ไปแล้ว 800 ล้านบาท
2. ผลการดำเนินการปรับลดมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบและสั่งการให้โรงงานให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้แผนการปรับลดมลพิษของผู้ประกอบการ ปัจจุบันได้จัดทำแผนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งดำเนินการปรับลดไปแล้วบางส่วน โดยมีผลการปรับลดมลพิษ ได้แก่
ด้านสารประกอบอินทรีย์ระเหย (VOCs) กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สรุปแหล่งรั่วซึมที่มีนัยสำคัญจากโรงงานที่มีความเสี่ยงการเกิดปัญหารั่วซึม VOCs จำนวน 100 โรงงาน มีจำนวนจุดรั่วซึมที่มีนัยสำคัญ 349 จุด ผู้ประกอบการ แก้ไขแล้วเสร็จ 196 จุด และอีก 153 จุด แก้ไขเพิ่มให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2551 และส่วนที่เหลือให้เร่งปรับปรุงโดยเร็ว
ด้าน ไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (NOx และ SO2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมฯ และกระทรวงพลังงาน ได้ประสานผู้ประกอบการจัดทำแผนปรับลดมลพิษในช่วงปี 2550-2553 ซึ่งจะมีการลงทุน 18,839 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลด NOx ได้ 7% และ SO2 34% โดยปัจจุบันสามารถลด NOx ได้แล้ว 3.4% และ SO2 5.6%
ด้านน้ำเสียอุตสาหกรรม ปัจจุบันผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสามารถลดการระบายน้ำทิ้งได้ถึง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเป้าหมายที่กำหนดไว้เพียง 700,000 ลูกบาศก์เมตรในปี 2550 ขณะที่ นอกนิคมอุตสาหกรรม สามารถลดได้ประมาณ 600,000 ลบม. และกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมมือกับผู้ประกอบการนอกนิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนลดการระบายน้ำเสียออกนอกโรงงานโดยมีเป้าหมายลดปริมาณระบายน้ำเสีย 10% ในปี 2554 ต่อไป
ด้านขยะ ปัจจุบันผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมฯ สามารถลดปริมาณขยะได้แล้วประมาณ 100,000 ตัน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 460,000 ตัน ในเดือนมีนาคม 2551 ขณะเดียวกัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะปรับปรุงระบบการติดตามตรวจสอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมให้ความสมบูรณ์ภายในมีนาคม 2551
3. การออกมาตรการเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับลดมลพิษ ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการ 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาตรการปรับลดและสำรองสัดส่วนค่าการระบายมลพิษสำหรับปรับปรุงการประกอบการในอนาคต และมาตรการบังคับผู้ประกอบการต้องปรับลดการระบายมลพิษของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการจัดเก็บค่าการปล่อยมลพิษ (Emission Charge) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้
4. การกำกับดูแลและพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับปรุงและจัดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด และให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศต่อประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มเคมีภัณฑ์ซีเมนต์ไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดาวเคมิคอล ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งสถานีแห่งใหม่ 7 แห่ง การนิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีแผนจะลงทุนอีกประมาณ 310 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่การนิคมฯ