กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ประโยชน์จากการออกหุ้นกู้ประเภท "กรีนบอนด์" เพื่อระดมเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่สนทนากันในงานสัมมนาครึ่งปีของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ "แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ "กรีนบอนด์" ในประเทศไทย" ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ที่กรุงเทพฯ ภายในงานสัมมนายังได้มีการกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอัตราต่ำและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงอื่นในระยะปานกลาง
คุณวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเปิดงาน และให้มุมมองว่า "กรีนบอนด์" ยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า 1% ในตลาดตราสารหนี้โลก โดยมีมูลค่ารวมเพียง 280 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าจะมีการออกเสนอขาย "กรีนบอนด์" เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค ภาคพลังงาน และภาคธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย การออก "กรีนบอนด์" น่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาสภาวะสิ่งแวดล้อม สภาวะสังคมและการควบคุมจัดการที่มากขึ้นในประเทศไทย การพัฒนาการของการระดมทุนผ่าน "กรีนบอนด์" ในภูมิภาคเอเชีย เป็นอีกหนึ่งหัวข้อในการบรรยายโดย Ms Natalia Bogomolova ผู้จัดการกลุ่มสภาบันการเงินภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ตะวันออก ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)
คุณโอบบุญ ถิรจิต ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของฟิทช์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าของโลกจากแหล่งพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่าน โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้การปรับตัวลดลงอย่างมากของต้นทุนการติดตั้งแผ่งรับแสงอาทิตย์และกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า น่าจะยังคงเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีสัดส่วนประมาณ 3% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศไทย โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้เป็น 15% ภายใน 20 ปีข้างหน้า
ดร. ยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจและรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บรรยายถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ
การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 ท่าน ซึ่งเป็นผู้บริหารด้านการเงินจากบริษัทในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย บริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ