กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--Chomchaviwan
หากพูดถึงบัญชีเงินฝากหลักของคนส่วนใหญ่คงจะหนีไม่พ้น "บัญชีออมทรัพย์" บัญชีที่มีไว้รองรับเงินเดือนให้เงินไหลผ่าน หรือพักไว้เพื่อการใช้จ่าย เพราะสะดวกสบายในการเบิกถอน แต่ก็เป็นบัญชีที่ได้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไปเฉลี่ย 0.25 - 0.50% ต่อปี หากได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี แหม…เห็นดอกเบี้ยน้อยนิด ก็อย่าทิ้งขว้างวางเฉย ลองเสียเวลาพิจารณาสักนิด จะเห็นว่ามีบัญชีที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าให้เราได้มากแค่ไหน
มีหลายๆ แบงก์ที่นำเสนอจุดขายเพื่อจูงใจผู้ฝาก บ้างก็ให้ดอกเบี้ยสูง บ้างปลอดภาษี บ้างก็ฟรีค่าธรรมเนียม และอื่นๆ อีกมากมาย สารพัดลูกเล่นที่นำเสนอให้โดนใจผู้ฝาก แต่จะให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าต้องดูเงื่อนไขกันให้ดีก่อน อย่างจุดขายแรงๆ ช่วงนี้คงหนีไม่พ้น "ฟรีค่าธรรมเนียม" อันนี้ถือเป็นเรื่องดีต่อผู้ฝาก ลองคิดเล่นๆ ใน 1 ปีเราจ่ายค่าธรรมเนียม กดเงินข้ามจังหวัด โอนเงินต่างธนาคาร รวมถึงจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ต่างๆ เราเสียค่าบริการไปเท่าไหร่แล้ว อย่างต่ำก็ 5-25 บาทต่อรายการ จะดีกว่าไหม ถ้าเราเลือกบัญชีที่ให้ความคุ้มค่าและช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เราได้ แต่จะให้ได้ประโยชน์แค่ไหนต้องดูเงื่อนไขกันให้ดีก่อน งั้นลองมาดูกันว่าแบงก์ไหนมีเงื่อนไขน่าสนใจอย่างไรบ้าง
TMB ถือเป็นต้นตำหรับของบัญชีออมทรัพย์ที่ฟรีค่าธรรมเนียม ด้วยบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี กับข้อเสนอ ฟรีโอนเงินต่างแบงก์ ข้ามจังหวัด ฟรีกดเงินทุกตู้ ทุกแบงก์ ทุกจังหวัด ฟรีค่าธรรมเนียมจ่ายบิล ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เติมเงิน และที่สำคัญคือ ฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพราะก่อนหน้านี้โจทย์ใหญ่ของคนใช้บัตรเอทีเอ็มนั่นคือ การกดเงินข้ามจังหวัด ซึ่งธนาคารมักจะคิดค่าบริการราว 20-25 บาท TMB จึงมี บัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี มาตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยทางธนาคารคิดค่าแรกเข้าพร้อมเปิดบัตรเดบิต 500 บาท และค่ารายปี 350 บาทต่อปี กรณีบัตรหาย บัตรหมดอายุ หรือบัตรชำรุดก็สามารถออกใหม่ได้ฟรีทันที ก็ลองดูความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ไม่ต้องจ่ายเลยสักบาท
นอกจากนี้ยังมี ME แบรนด์หัวหอกของค่าย TMB เช่นกัน เน้นตอบสนองความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัลภายใต้แนวคิด "ลูกค้า ME ได้มากกว่าเสมอ" ผ่าน ME บัญชีเงินฝากดิจิทัล ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป 4.5 เท่า ซึ่งทางแบงก์ไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งค่ารักษาบัญชี ค่าธรรมเนียมรายปี ค่า SMS แจ้งเตือน และล่าสุดก็ประกาศปลดล็อคค่าธรรมเนียมการโอนให้ลูกค้าโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคารที่ผูกไว้กับบัญชี ME สูงสุด 3 บัญชีได้ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ให้โอนฟรีต่างธนาคารได้ 2 ครั้งต่อเดือน
สำหรับการโอนต่างธนาคารลูกค้าสามารถเลือกโอนแบบทันทีหรือโอนวันทำการถัดไปก็ได้ วงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และ 2 ล้านบาทต่อวันต่อประเภทการโอน แต่หากโอนแบบทันทีเข้าบัญชีธนาคารทหารไทยวงเงินโอนสูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่การโอนผ่านพร้อมเพย์ให้วงเงินสุดสุด 500,000 บาทต่อครั้งต่อวัน รวมทั้งไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บเช็ค ตอนนี้ยังค้นหาดอกจันไม่เจอสำหรับแบรนด์นี้
อีกค่ายที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างกรุงศรีออมทรัพย์จัดให้ จัดให้ฟรีในบัญชีเดียว จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดมาเต็มรูปแบบทำให้ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน โดยฟรี กดเงินทุกตู้ ทุกธนาคารทั่วไทย ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรี ค่าธรรมเนียมจ่ายบิล 5 บิลต่อเดือน (ยกเว้นการเติมเงินโทรศัพท์มือถือและการชำระค่าภาษีรถประจำปีของกรมขนส่ง) สอบถามยอดจากเครื่อง ATM ทุกตู้ ทุกธนาคารทั่วประเทศ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งข้อกำหนดและเงื่อนไขคือ จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเมื่อเปิดบัญชี "ออมทรัพย์จัดให้" พร้อมทำบัตรกรุงศรี เดบิต ออมทรัพย์จัดให้ พร้อมฟรีค่าออกบัตรใหม่ โดยทางธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี 400 บาท
อีกแบงก์ที่เห็นลงมาเล่นเรื่องฟรีค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน คือ ธนาคารธนชาต ส่งบัญชีออมทรัพย์ "ฟรีเว่อร์" มาพร้อม "บัตรเดบิตฟรีเว่อร์" จะได้สิทธิพิเศษ กดเงิน ATM ทุกธนาคาร ทุกที่ทั่วไทย ฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรีค่าธรรมเนียมจ่ายทุกบิลที่ตู้ ATM ของธนชาต และฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงินทั่วประเทศระหว่างบัญชีธนาคารธนชาตผ่านตู้ ATM ธนชาต รวมทั้ง ThanachartiNet โดยต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท กำหนดเงินคงเหลือขั้นต่ำในบัญชีไม่ต่ำกว่า 500 บาท และยังมีเงื่อนไขต้องมีเงินคงเหลือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน หากต่ำกว่าธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน 50 บาทต่อบัญชีต่อเดือน โดยเปิดบัญชีขั้นต่ำ 100 บาท พร้อมสมัครบัตรเดบิต และมีค่าธรรมเนียมรายปี 250 บาทต่อปี
และล่าสุดย้ำกระแสฟรีค่าธรรมเนียมอีกครั้งกับ 2 แบงก์ใหญ่อย่าง กสิกรไทย ที่ประกาศเอาใจคนยุคดิจิทัลให้ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME ไม่ว่าจะเป็นโอนข้ามเขต โอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงิน แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 ธันวาคม 2561 ส่วนค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตนั้นจะยังคงมีอยู่ โดยขึ้นอยู่กับประเภทบัตร ในส่วนของค่าธรรมเนียมแรกเข้าเริ่มต้นที่ 100 – 150 บาท และค่าธรรมเนียมรายปีนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ 200 – 650 บาท
ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์ก็ส่ง "มานี" ฟรีทุกค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะโอน จ่าย เติม กด ฟรีหมด! เมื่อทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น SCB EASY โดยเป็นการยกเลิกการคิดค่าบริการแบบถาวร ไม่ใช่แค่การทำโปรโมชั่นเท่านั้น ด้านค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตรายปีจะเริ่มต้นที่ 200 – 1,599 บาทขึ้นอยู่กับประเภทบัตรเช่นกัน ในส่วนค่าธรรมเนียมแรกเข้าจะอยู่ที่ 100 บาท
จะเห็นว่าแทบทุกแบงก์ชูโปรโมชั่น "ฟรีค่าธรรมเนียม" เมื่อทำธุรกรรมผ่านดิจิทัล แอฟพลิเคชั่น หรือออนไลน์ ซึ่งเป็นอินโนเวชั่นที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนให้กับแบงก์ด้วยเช่นกัน แต่การทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ที่สาขาหรือ ATM ก็ยังคงมีค่าธรรมเนียมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่ารักษาบัญชี ค่าธรรมเนียมเรียกเก็บเช็ค และค่า SMS เป็นต้น
ถึงลูกเล่น "ฟรีค่าธรรมเนียม" จะช่วยให้เจ้าของบัญชีประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดูรายละเอียด คือ เงื่อนไข และไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่า เหมาะที่จะใช้บัญชี และบริการรูปแบบไหน และจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าได้อย่างไร เพราะการที่แบงก์ยอมแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายแทนลูกค้า คงไม่ใช่การให้ฟรีๆ โดยสุดท้ายแล้วแบงก์ไม่ได้อะไรกลับไปเลยอย่างแน่นอน