กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--มทร.ธัญบุรี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี จัดโครงการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โรงเรียนวัดไผ่ดำ จังหวัดสิงห์บุรี โรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดาริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ดร.จุฬาลักษณ์ วัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลโครงการ เปิดเผยว่า ตามที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของประชาชน ในสังคม นำมาซึ่งการจัดตั้งเป็น"โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิฯ) ได้มีการตกลงร่วมมือกันในการดำเนินงาน "โครงการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับโรงเรียนพระปริยัติธรรม" โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดาริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยอุปกรณ์ Open Technology ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ให้กับนักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะการคิด การแก้ปัญหา ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการทำโครงงาน หรือนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมได้ ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่ในการจัดอบรม โดยแบ่งการอบรมเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Arduino Programming Basic Course ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษากับการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นด้วย Arduino / Raspberry Pi สำหรับโรงเรียน ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษากับโครงงานระบบอัจฉริยะด้วย IOT เพื่อเป็นการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยนำหลักการ STEM มาใช้ในโรงเรียนวัดไผ่ดำ จังหวัดสิงห์บุรี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้มีการจัดโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษากับโครงงานระบบอัจฉริยะด้วย IOT สำหรับโรงเรียนวัดไผ่ดำ จังหวัดสิงห์บุรี ให้แก่สามเณรในโรงเรียนดังกล่าว เป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนตลอดจนยกระดับคุณภาพของนักเรียนในรายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนวัดไผ่ดำ แผนกสามัญศึกษา ให้มีความพร้อมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต และทำการคัดเลือกสามเณร 30 คน แบ่งเป็น 10 กลุ่ม เขียนผลงานโครงงานระบบอัจฉริยะด้วย IOT เพื่อรับทุนจาก The Brain ทำเป็นโครงการสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปประกวดกับ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดาริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทั่วประเทศไทยประมาณช่วงเดือนมิถุนายน
นายมีเดช เฮ็งเพ็ง อาจารย์แผนกสามัญศึกษา โรงเรียนวัดไผ่ดำ เล่าว่า ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 – ชั้นปีที่ 6 มีสามเณรทั้งหมดประมาณ 147 รูป ครู 10 คน พระ 4 รูป โรงเรียนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เขตภาคกลาง สำหรับโครงการนี้ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการเป็นปีแรกในส่วนของโครงการไอที เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะทางด้านไอทีให้กับสามเณร โดยในการคัดเลือกสามเณรที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ทั้งหมด 45 คน เลือกสามเณรที่มีความสามารถและความชอบในเรื่องของไอที คัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสามเณรจะได้เรียนรู้ทักษะและนำไปพัฒนาโครงงานเพื่อส่งเข้าประกวดประมาณเดือนมิถุนายน ตลอดจนการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
สามเณรศุภกร แสงเลิศ เล่าว่า สนใจทางด้านไอที จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ ในการเข้าอบรมได้ความรู้ใหม่ๆ และความรู้เฉพาะทางที่ไม่มีสอนที่โรงเรียน อย่างเช่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ผ่านระบบมือถือ ได้เรียนรู้การทำโครงงานระบบอัจฉริยะ IOT สำหรับโครงงานที่จะทำ คือ กังหันน้ำแบบอัตโนมัติ และหวังว่าโครงการของตนเองจะได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดในเดือนมิถุนายน อยากให้มีโครงการแบบนี้อีกซึ่งเป็นโครงการที่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง
สามเณรอริย์ธัช ขันหล่อ เล่าว่า เทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ทุกวันนี้นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย จึงอยากมีความรู้ทางด้านนี้ การมาอบรมในวันนี้ได้รับความรู้ทักษะในการเขียนโปรแกรม ตลอดจนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญได้เรียนรู้ศัพท์เฉพาะของเทคโนโลยี สำหรับโครงงานที่ทำประกวดในครั้งนี้ คือ บ้านไผ่แก๊สดีเทคเตอร์ ลักษณะของผลงาน ตรวจจับการรั่วของแก๊สภายในบ้านผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ นอกจากส่งเข้าประกวดแล้ว จะนำโครงงานมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ทางด้าน นายธีรธรรม นามศิริเลิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จิตอาสาช่วยถ่ายทอดความรู้ เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ช่วยพัฒนาตนเอง ทำให้กล้าแสดงออก การที่เรียนในห้องเรียนอย่างเดียว โดยไม่ได้ลงมือทำ และไม่นำมาถ่ายทอดหรือสอนคนอื่น ความรู้ที่เรียนมาจะไม่มีประโยชน์ ต้องนำมาใช้ สามเณรที่มาตั้งใจเรียนและให้ความสนใจ จึงมีกำลังใจในการถ่ายทอดความรู้ และช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม เป็นโครงการที่มีประโยชน์ดีกว่าทิ้งเวลาให้เสียเปล่าไป
สำหรับ 10 โครงงานระบบอัจฉริยะด้วย IOT เพื่อเป็นการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้ง 10 กลุ่มสามเณรที่จะเข้าประกวด ได้แก่ 1. บ้านไผ่แก๊สดีเทคเตอร์
2. ต้นแบบอาคารอัจฉริยะเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 3. ราวตากผ้าอัจฉริยะ 4. เครื่องไล่ยุงแบบพกพาด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง 5. อ่างล้างมืออัตโนมัติ 6. Automatic Watering Machine 7. กังหันน้ำเพิ่มออกซิเจนอัตโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 8. กังหันน้ำแบบอัตโนมัติ 9. ถังหมักแก๊สชีวะภาพ 10. พัดลมไล่ยุงอัตโนมัติ