กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
EEC เนื้อหอม ภาคเอกชนตั้งความหวังกระตุ้นเงินหมุนเวียนมหาศาล โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่และระบบอัตโนมัติซึ่งได้รับการส่งเสริมจาก BOI อุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำรุดปักธง
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาและเป็นประธานเปิดงานแสดงเทคโนโลยีด้านระบบการผลิตอัตโนมัติ 'AUTOMACH 2018' (ออโตแมค 2018) ณ Hall C ศูนย์ประชุม PEACH โรงแรมรอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป พัทยา และมี คุณสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ร่วมแถลงถึงการสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว โดยมีการใช้แขนกลเป็นGimmick ร่วมในพิธีเปิด
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างจับจ้องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขยายการลงทุน เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาเติบโตประมาณ 1-2% จีนไม่เติบโต ญี่ปุ่นเติบโตประมาณ 1% ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนยังสามารถเติบโตได้อีก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และมีไทยเป็นจุดเชื่อมต่อของประเทศเหล่านั้น ประเทศไทยอยู่ตรงกลางของกลุ่ม CLMV เป็นจุดเชื่อมต่อของประเทศเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งไทยถือว่ามีระดับของการพัฒนาความเจริญอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียมีอันดับใกล้เคียงกับเรา เพียงแต่รายได้เฉลี่ยของประชากร การพัฒนาธุรกิจและความทันสมัยยังเป็นรองไทยเล็กน้อย ขณะนี้รัฐบาลมีโมเดล Thailand 4.0 ปรับเปลี่ยนจากผู้ผลิตที่เน้นปริมาณมาเป็นผู้ผลิตที่เน้นคุณภาพ และต้องเร่งผลักดันส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC รวมถึงพัฒนาภาคการผลิตให้มีความก้าวหน้า ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศในระดับสากล การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC รัฐบาลมีเป้าหมายสนับสนุนอุตสาหกรรม 10+1 นั่นคือ มุ่งยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะนำไปต่อยอดให้ทันสมัยมากขึ้น ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาเข้าใช้งานในกระบวนการผลิต ขณะที่การสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ ไบโอ และดิจิทัล อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องมี IoT รวมถึงดิจิทัลเข้ามารองรับ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการสนับสนุนอีกหนึ่งอุตสาหกรรม นั่น คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนักลงทุนที่มีความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นจำนวนมาก อาทิ ประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะไทยถือเป็นฐานการลงทุนและการผลิตหลักของนักลงทุนญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย แต่ทั้งนี้การที่จะผลักดันให้ EEC ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยการร่วมแรงจากภาคเอกชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่ามัวรอให้พื้นที่โตแล้วค่อยเข้าไปบุกตลาด งานแสดงสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคบริการที่สำคัญ ซึ่งงาน AUTOMACH 2018 จัดขึ้นได้ถูกที่ถูกเวลาตรงกับพื้นที่เป้าหมายที่ภาครัฐต้องการยกระดับและผลักดันให้เติบโต
นายธีระ กิตติธีรพรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเวิลด์ พับลิเคชั่น จำกัด ผู้จัดงาน AUTOMACH 2018 กล่าวถึงที่มาว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตสื่อด้านอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีทั้งนิตยสาร สื่อออนไลน์ e-marketplace รวมถึงการจัด mini-exhibition การสัมมนา และ business matching ในพื้นที่อุตสาหกรรมหลายจังหวัด ได้เห็นแนวโน้มว่าบุคลากรภาคอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวอย่างมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เรารวบรวมข้อมูลจากหลายช่องทาง พบว่า ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อแรงงาน การย้ายฐานการผลิต คุณภาพสินค้าและราคา ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าอุปสงค์จะลดลงหรือฐานการผลิตอาจย้ายไปที่อื่น ในขณะที่บุคลากรกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่หรือไม่ จะถูกเลิกจ้างไหม ฯลฯ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งแต่ก่อนอาศัยจุดแข็งด้านค่าแรงในการผลิตสินค้าจำนวนมากราคาถูก ก็ต้องปรับตัวในหลายมิติกระทั่งกลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีทั้งในฐานะผู้ใช้และผู้ผลิต และแรงงานก็ยกระดับตนเองมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ EEC เรามองว่าเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์อย่างมาก เพราะมีทิศทางสร้างความยั่งยืนในการแข่งขันระยะยาว งานแสดงสินค้าก็เป็นตัวสะท้อนที่สำคัญถึงการกระจายความเจริญสู่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมถึงสร้างความมั่นใจภูมิใจแก่คนในพื้นที่อีกด้วย
การจัดงาน AUTOMACH 2018 ครั้งนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับเราในการนำเสนอทางเลือกใหม่ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากแบรนด์อุตสาหกรรมชั้นนำต่าง ๆ จนสามารถทำให้จัดงานได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยใช้เวลาการเตรียมงานเพียง 6 เดือน และหัวข้อสัมมนาต่าง ๆ กว่า 30 หัวข้อเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานก็มีบุคลากรในพื้นที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 4,600 ที่นั่ง ตอกย้ำความมั่นใจในศักยภาพของอุตสาหกรรมในพื้นที่EEC การที่ประเทศไทยยังมีสัดส่วนการใช้ระบบ Automation น้อย นั่นคือโอกาสมหาศาล แม้ว่าตอนนี้ต้นทุนของการลงทุนระบบยังสูง แต่เราก็ต้องเริ่มเรียนรู้เพื่อพร้อมรับมือ ซึ่งประเทศไทยเองมีมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์ด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ราว 134,000 ล้านบาท และมีการนำเข้าที่ 270,000 ล้านบาท โดยโรดแมปของ BOI เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คือ สนับสนุนให้มีการใช้ ร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และ SI ภายในประเทศ กำหนดเงื่อนไขให้ต้องใช้ local suppliers สัดส่วน 30% ขึ้นไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในอนาคต ดังนั้น ปี พ.ศ. จึงเป็นจังหวะที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการและบุคลากรภาคการผลิตใน EEC ที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาทักษะเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงการขยับขยายไปยังธุรกิจใหม่ที่อาจเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve หรืออุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งนี้ ในปีต่อไปAUTOMACH จะขยายการจัดงานโดยเพิ่มสาขาเทคโนโลยีที่จัดแสดงให้ใหญ่ขึ้นและครอบคลุม MICE Destination ทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกฟันเฟืองร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่เพื่อการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไป นายธีระ กล่าว