กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดลูกเห็บประจำปี 2561 เพื่อเป็นการช่วยเหลือพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว
วันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสภาวะภัยแล้งบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันความรุนแรงจากสภาวะภัยแล้งและการเกิดพายุลูกเห็บ ได้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและภัยแล้ง ตามยุทธศาสตร์การบรรเทาภัยพิบัติของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าวด้วยเทคนิคการการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการหนึ่งในการดัดแปรสภาพอากาศ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้ในตำราฝนหลวงพระราชทาน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับเทคนิคการปฏิบัติการ ฝนหลวงเมฆเย็น จะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air) ซึ่งสารฝนหลวงที่ใช้กับเมฆเย็นหรือ เมฆที่อุณหภูมิภายในต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส คือ ซิลเวอร์ไอโอไดด์ เป็นสารที่ผลึกมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ ภายในเมฆเย็นจะมีเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดปริมาณมาก การเพิ่มปริมาณแกนผลึกน้ำแข็ง ในเมฆจะเป็นการเร่งกระบวนการทางธรรมชาติที่เดิมมีปริมาณแกนผลึกน้ำแข็งอยู่น้อย เพื่อทำให้เกิด ผลึกน้ำแข็งปริมาณมากขึ้นและเกิดการยกตัวของเมฆจากการคายความร้อนแฝง ได้ปริมาณน้ำฝนมากกว่า ธรรมชาติ ซึ่งเมฆที่เกิดในฤดูร้อนมักทำให้เกิดพายุฤดูร้อนและอาจมีลูกเห็บเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเมฆ มีการยกตัวอย่างรวดเร็วและมีแกนน้ำแข็งภายในเมฆน้อย น้ำแข็งที่อยู่ในเมฆเย็นหรือยอดเมฆร่วงหล่นลงมาถึงพื้นโดยที่ละลายไม่ทัน
สำหรับการใช้เทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นเพื่อเพิ่มแกนผลึกน้ำแข็งให้มากกว่าการปฏิบัติการเมฆเย็นตามปกติ จะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากแกนผลึกน้ำแข็งปริมาณมากที่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้น สามารถลดความเสียหายได้
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งประจำการอยู่ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก และในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ เพื่อใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูง
และมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมาย ประจำการหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันปฏิบัติการฝนหลวง ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยการใช้วิธีโจมตีด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ ไปเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำ โดยที่ผลึกน้ำแข็งจะละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เพื่อลดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนอันจะเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้ และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามนโยบายโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามกรอบหลักการที่ 3 ชุมชนอยู่ดีมีสุข ในการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพและรายได้แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ร้องขอทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต พื้นที่ประสบภัยและอื่นๆ ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลสถานการณ์ความต้องการฝนในพื้นที่โดยตรงทางโทรศัพท์หมายเลข 0-5327-5051 ต่อ 12 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th
หรือทาง facebook ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ รวมทั้งมีบริการข้อมูลผลตรวจเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ
บนหน้าเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตรหรือเข้าถึงได้ที่ http://122.154.75.14/RRMThaiGov/ RadarApp/RadarMainRoyalRain.php