กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร น้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" และพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ร่วมเพิ่มผืนป่าให้กับประเทศไทย พร้อมอนุรักษ์ป่าไม้ สร้างระบบนิเวศ และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อช่วยให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่ปลูกป่า ณ พื้นที่ป่าบริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกล่าวว่า กิจกรรมการปลูกป่าจัดขึ้นเพื่อสานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและสร้างความชุ่มชื้นเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ให้สามารถกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มผืนป่าและสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำ และเป็นต้นทุนความชื้นสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะรักษาระบบนิเวศป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน และสนับสนุนแผนการดำเนินการโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทยสานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ในพื้นที่ทั่วประเทศหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวันของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอีกด้วย
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้นทั้ง 5 ภูมิภาค โดยในพื้นที่ภาคเหนือ กำหนดจัดกิจกรรม ปลูกป่าบริเวณพื้นที่ป่าลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญอีกที่หนึ่งของภาคเหนือ และเป็นบริเวณที่สามารถช่วยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ที่จะเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่การเกษตรทางภาคเหนือด้วย สำหรับไม้ยืนต้นและไม้ผลที่ใช้ปลูกในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 400 ต้น ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น จำนวน 300 ต้น ได้แก่ ยางนา 150 ต้น ตะเคียน 30 ต้น ประดู่ 30 ต้น ก่อใบเลื่อม 30 ต้น มะค่าแต้ 30 ต้น และมะขามป้อม 30 ต้น และไม้ผล จำนวน 100 ต้น ได้แก่ ชมพู่ 30 ต้น มะยม 20 ต้น ขนุน 20 ต้น และฝรั่ง 30 ต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าที่สามารถช่วยเป็นป่าไม้สำคัญของพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเกิดระบบนิเวศที่ดีต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว ได้รับความร่วมมือและ การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ รวมทั้งอาสาสมัครฝนหลวง ของภาคเหนืออีกด้วย