กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานความร่วมมือกับสำนักงานชลประทานที่ 7 บินสำรวจพื้นที่ทางการเกษตร พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ "สาหร่ายบูม" ในพื้นที่เขื่อนระบายน้ำที่ลำโดมใหญ่ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 29 มีนาคม 2561 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ "สาหร่ายบูม" ขึ้นเป็นแพบนผิวน้ำบริเวณพื้นที่เขื่อนระบายน้ำลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้น้ำได้นั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสานความร่วมมือกับสำนักงานชลประทานที่ 7 ทำการบินสำรวจพื้นที่การเกษตร และติดตามสถานการณ์น้ำและสาหร่ายบูม ซึ่งแม้จะพบว่าปริมาณน้ำในลำโดมใหญ่และสถานการณ์สาหร่ายบูมยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ทางสำนักงานชลประทานที่ 7 ยังมีความต้องการขอรับบริการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนลำโดมใหญ่และอ่างเก็บน้ำบริเวณอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอบุณฑริก อำเภอน้ำยืน อำเภอเขื่องใน และอำเภอเหล่าเสือโก๊ก จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรักษาระบบนิเวศ และป้องกันปัญหาสาหร่ายบูม
สำหรับสถานการณ์สาหร่ายบูม เกิดขึ้นเนื่องจากสาหร่ายได้รับอาหารจากการทิ้งน้ำซักล้างของชุมชนโดยรอบ น้ำจากสารเคมี น้ำที่ใช้ทำเกษตรกรรม และน้ำเสียจากบ่อบำบัด ทำให้น้ำบริเวณนี้มีธาตุอาหารสูง ประกอบกับมีการปิดเขื่อนลำโดมใหญ่ ทำให้น้ำมีสภาพนิ่งและมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ จึงเกิดสาหร่ายบูมสีเขียวขึ้นเป็นแพเต็มลำน้ำ ทั้งนี้ จากผลการตรวจวิเคราะห์น้ำ ไม่พบว่ามีสารโลหะหนัก จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัส แต่อาจจะรู้สึกคัน เพราะน้ำมีความเป็นกรดสูงจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหา จำเป็นต้องมีการปล่อยน้ำมาชะล้างถ่ายเทเพื่อใช้ปรับสภาพน้ำในลำน้ำให้ดีขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อบรรเทาปัญหาสาหร่ายบูมในพื้นที่เขื่อนลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเพจ facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือทางเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร www.royalrain.go.th