กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กู๊ดเน็ตเวิร์ค
ระดมสมองผ่านเวทีเสวนา พลิกโฉมหน้าระบบการศึกษาแห่งอนาคตของประเทศไทยด้วยระบบดิจิทัล เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้สู่ห้องเรียนยุคใหม่ด้วยการศึกษาดิจิทัล ช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา สร้างความเท่าเทียม และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ทันสมัยให้กับเด็กไทย
บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด ผู้สร้างสรรค์และผลิตสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษามานานกว่า 20 ปี ได้เปิดระดมสมองผ่านเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ "การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ด้วยระบบดิจิทัล : สร้างคน สร้างชาติ เพื่อศักยภาพไทยสู่สากล" โดยมี นายสมเกียรติ สรรคพงษ์ ที่ปรึกษาเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต สูงใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ฝ่ายมัธยมศึกษา ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ Thailand Partner and Country Director บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด มร. นิค ฮัตตั้น Regional Director, Asia จาก D2L Asia Pte. Ltd. และนายสนั่นพงษ์ สุขดี ประธานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด ร่วมเสวนา โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
ในการพลิกโฉมหน้าการศึกษาของไทยสู่ Digital Education นั้น นายสมเกียรติ สรรคพงษ์ ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน กล่าวว่า ปัจจุบัน สพฐ. ได้เริ่มรวบรวมสื่อการเรียนการสอนต่างๆ และเปลี่ยนสู่การเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในด้านการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนเพิ่มมากขึ้น เช่น การศึกษาในระบบ DLIT ซึ่งเป็นคลังสื่อประกอบการจัดการเรียนการสอนที่ตรงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีการจัดระบบและหมวดหมู่ที่ให้ครูสามารถนำไปใช้งานได้ทันที มีทั้งสื่อที่เป็นภาพนิ่ง วิดีทัศน์ เกม และแอพพลิเคชันต่างๆ โดยครูสามารถใช้สื่อจาก DLIT Resources นำเข้าสู่บทเรียน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด ใช้สื่อตั้งคำถาม ใช้สื่อเป็นคำตอบ เป็นต้น รวมไปถึงใช้ในการพัฒนาครู ขณะเดียวกันในส่วนของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนนั้น ทาง สพฐ. ให้อิสระกับโรงเรียนและครูเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ โดย สพฐ. จะทำหน้าที่ในการพิจารณารับรองคุณภาพและควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานเท่านั้น
ด้านมุมมองของแรงงาน นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า สิ่งที่ตลาดแรงงานมองเป็นหลักคือ เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว ต้องทำงานได้ ซึ่งตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการเฉพาะผู้ที่มีความรู้ตรงสาขาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการคนที่มีความสามารถในการทำงานมากกว่า ดังนั้น การจัดการศึกษาในระบบ Digital Education ในส่วนของแรงงานนั้น จึงเป็นเรื่องของการเทรนนิ่ง เป็นการเติมเต็มความรู้และทักษะในการทำงาน โดยจะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้และการฝึกทักษะที่หลากหลายให้กับประชาชนหรือแรงงาน ซึ่งการพัฒนาสื่อสำหรับแรงงานนั้นก็ต้องคิดโดยเอางานเป็นตัวตั้ง โดยทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้วางเป้าหมายการพัฒนาระบบเทรนนิ่งออนไลน์ไว้แล้ว ซึ่งแรงงานสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และฝึกทักษะได้ง่ายผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นคอร์สระยะสั้นที่มีหลากหลาย และครูผู้สอนสามารถดูแลผู้เรียนได้มากนับหมื่นคนในเวลาเดียวกัน
ด้านมุมมองของผู้มีประสบการณ์บริหารมหาวิทยาลัยที่มีระบบการเรียนออนไลน์มานานนับ 10 ปีอย่าง มิสเตอร์นิค ฮัตตั้น ได้กล่าวถึงสถิติที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันร้อยละ 65 ของจำนวนผู้เรียนที่มีอยู่ในขณะนี้ เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต สาขาวิชาที่เรียนมาอาจจะไม่มีอยู่แล้ว เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลง หลายสาขาวิชามีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการ ทำให้ลดจำนวนแรงงานลง สิ่งที่วงการการศึกษาในประเทศพัฒนาทั่วโลกกำลังปรับตัวขณะนี้คือ การทบทวนทักษะ หรือ re-skill ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการศึกษานั้นจะเกี่ยวข้องกับ 3 ส่วนสำคัญคือ ตัวผู้เรียน ซึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนที่สองคือ ผู้บริหารจัดการ ที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้จักเทคโนโลยีทางการศึกษามากขึ้นว่ามีอะไร ต้องใช้อย่างไร และส่วนที่สามที่สำคัญที่สุดคือ ครูผู้สอน ที่จะเป็นผู้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อผู้เรียนมากที่สุด
ดร.มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ Thailand Partner and Country Director บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวถึง Digital Education ว่า ปัจจุบันในหลายประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาไปไกลมาก โดยหลายประเทศก้าวไปสู่ระดับของการเรียนรู้แล้ว โดยใช้ในการจัดระบบการศึกษาเฉพาะตัว หรือเฉพาะทางให้กับเด็กตามความถนัดและความเหมาะสม ในขณะที่ประเทศไทยยังพัฒนาอยู่แค่ในระดับนโยบาย ยังไม่สามารถปฏิบัติในระดับการเรียนรู้ได้ผลจริง แม้ประเทศไทยจะตั้งเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษา โดยคาดหวังให้ประเทศไทยติดอันดับ top 20 ของ PISA ภายในระยะเวลา 20 ปี และมี 5 มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ top 100 รวมไปถึงมีอย่างน้อย 1 ผลงานวิจัยที่ได้รางวัลโนเบล ก็ดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศยังต่ำมาก สิ่งที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ เป้าหมายในการปรับปรุงทักษะด้านดิจิทัลของคนไทย เพราะเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียนจะเห็นว่าประเทศไทยมีโปรแกรมเมอร์เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ทักษะเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาจากภายนอก ไม่ได้ถูกพัฒนามาจากการศึกษา ซึ่งหากประเทศสามารถเกลี่ยงบประมาณด้านการศึกษาให้มีความเหมาะสมกับเทรนด์ คือ กระจายสู่การพัฒนาด้านดิจิทัลมากขึ้น ก็จะทำให้เกิด Digital Education ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต สูงใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ฝ่ายมัธยมศึกษา แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของไทยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่สำคัญ แต่ต้องจัดให้เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น ในระดับประถมศึกษานั้น ควรฝึกให้เด็กฝึกฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นกระบวนการไปตามธรรมชาติของคน ไม่ใช่เน้นหนักในเรื่องความรู้ทางวิชาการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่เด็กช่วงวัยมัธยมศึกษา ควรเน้นในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้นจำเป็นต้องสอนให้เด็กรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ถูกต้อง เหมาะสม โดยเฉพาะในเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลายควรใช้ Digital Education เน้นการศึกษาพื้นฐานที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองมีความถนัดในด้านใด เพื่อให้เด็กรู้จักความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง สามารถต่อยอดและวางตำแหน่งของตนเองในสังคมได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การเรียนออนไลน์นั้นมีข้อดีคือเด็กมีโอกาสเข้าถึงความรู้ได้มาก แต่ข้อด้อยคือ ไม่สามารถสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ผ่านการเรียนออนไลน์ได้ ดังนั้น โรงเรียนจึงยังคงมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังและสอนให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว หลักสูตรการศึกษาดิจิทัลที่จะจัดทำขึ้นจึงต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจนก่อน และจัดให้เหมาะสม โดยมีครูในโรงเรียนเป็นผู้ควบคุมระบบทั้งหมด โรงเรียนในท้องถิ่นห่างไกล ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตมาจัดการเรียนรู้ได้ โดยต้องทำให้เป็นโรงเรียนดิจิทัล ห้องสมุดดิจิทัล ที่น่าสนใจและดึงดูดให้เด็กหรือสังคมเข้ามาเรียนรู้ มาใช้บริการ ต้องเปิดกว้างเหมือนการทำร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือร้านกาแฟอย่างในปัจจุบัน
นายวิทยา มิตรศรัทธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด ในฐานะผู้จัดงานเสวนากล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดการตื่นตัวในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ (ไอซีที) เพื่อการศึกษามากยิ่งขึ้น แนวความคิดด้านการศึกษาสมัยใหม่จึงเปลี่ยนแปลงไป โดยจะต้องมีการใช้ไอซีที และดิจิทัลในกระบวนการเรียนการสอนและพัฒนาคนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมที่จะตอบสนองแนวคิดดังกล่าว และได้ใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในประเทศที่มีความก้าวหน้าคือ "โซลูชั่นเพื่อการศึกษา หรือดิจิทัลแพลตฟอร์ม" ซึ่งทางเจเนซิสฯ เองได้มีการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐานและคุณภาพระดับสากล พร้อมทั้งเนื้อหา สื่อและทรัพยากรการสอนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงเครื่องมือการถ่ายทอดความรู้ในทุกมิติที่สามารถตอบสนองได้ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันพัฒนาบุคลากร องค์กรและหน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความคุ้มค่ามากที่สุด อันเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ลดช่องว่างทางการศึกษา เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
"ระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนการสอนของระบบการศึกษายุคใหม่ โดยการสร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้ หรือ Learning Ecosystem ในแบบที่ทำให้เกิด Personalized Learning มีการสอนแบบตัวต่อตัวได้ วิธีนี้ทำให้กระบวนการสอน พัฒนา ถ่ายทอด ทดสอบ ประเมิน วัดความสำเร็จ และผลลัพธ์เป็นแบบรายบุคคลได้ รวมทั้งยังสามารถจัดการกับความแตกต่างในพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคนได้ด้วย โดยยังคงเน้นการยึดตัวนักเรียนหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered Education) ในขณะเดียวกันเมื่อ Personalized Learning เกิดขึ้นกับนักเรียนจำนวนมากในชั้นเรียน ในโรงเรียน ในเขตการศึกษา ก็จะเกิดคลังข้อมูลด้านต่างๆ จนกระทั่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการดังกล่าว จนกลายเป็น Big Data และใน Educational Big Data นั้นเราสามารถทำการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ เกิดเป็น Educational Analytical Information ที่สามารถนำไปกำหนดยุทธศาสตร์ทางการศึกษาระดับมหภาคได้ต่อไป ซึ่งนักบริหารระดับสูงใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายของประเทศได้ เราอยากให้วิสัยทัศน์นี้ได้เป็นจริงใจอนาคตอันใกล้" นายวิทยากล่าว
สำหรับแนวคิดของระบบการศึกษาสมัยใหม่ (Modern Education) นั้น จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ยึดรูปแบบ เน้นผลลัพธ์ความสำเร็จของผู้เรียนเป็นเกณฑ์ มีการใช้ทฤษฎีการเล่นมาใช้ โดยนำเรื่องเรียนไปใส่ในการเล่น เช่น การใช้ระบบเกมการศึกษา เกมเพื่อการเรียนรู้ (Game Based Learning and Gamification) หรือการสร้างเกมการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างง่าย ประหยัดและสะดวก มีความสนุกสนานทำให้ผู้เรียนสามารถรับความรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี