กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ระดับ "AAA" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ "AA" ด้วย ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ ปตท.สผ. อยู่ 2 ขั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าวได้
อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. สะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนการมีความเสี่ยงด้านการตลาดที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รวมทั้งการมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำจากแหล่งปิโตรเลียมเดิมของบริษัท นโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และฐานะการเงินที่มีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ลดลงทำให้มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะมีการซื้อแหล่งปิโตรเลียมสำรองเพิ่มเติม อีกทั้งความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยกังวลสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย
ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเครือ ปตท. โดย ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.สผ. ในสัดส่วน 65.3% ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 87% ของยอดจำหน่ายของบริษัทอีกด้วย ดังนั้น บริษัทเกือบจะไม่มีความเสี่ยงในด้านเครดิตจากลูกค้ารายใหญ่เลย ปัจจุบัน ปตท. เป็นผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ในขณะที่กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์การเติบโตของ ปตท. และเพื่อแสวงหาพลังงานให้แก่ประเทศ
สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท. เพิ่มความแข็งแกร่งด้านธุรกิจ
ปริมาณการจำหน่ายปิโตรเลียมของบริษัทประมาณ 70% เป็นก๊าซธรรมชาติซึ่งมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreements -- GSAs) ระยะยาวกับ ปตท. ที่มีการกำหนดสูตรราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติไว้ โดยผู้ซื้อจะต้องรับซื้อปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหรือจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติในปริมาณเทียบเท่า ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีส่วนช่วยประกันปริมาณจำหน่ายของบริษัท
โครงสร้างราคาขายก๊าซธรรมชาติช่วยให้ราคาขายเฉลี่ยของบริษัทมีเสถียรภาพ สูตรราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติยังช่วยจำกัดความผันผวนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันได้อีกด้วย ประมาณ 30%-50% ของราคาก๊าซธรรมชาตินั้นอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาโดยจะมีการปรับราคาช้ากว่าราคาน้ำมันเตาประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี นอกจากนี้ สูตรราคายังอิงกับดัชนีเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงด้วย
ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ
บริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการรักษาต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้ตลอดระยะเวลาที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ โดยตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2557 บริษัทสามารถรักษาระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ให้อยู่สูงกว่า 70% ในขณะเดียวกันยังสามารถบริหารต้นทุนในการผลิตปิโตรเลียมต่อบาร์เรล (Lifting Cost) ได้เป็นอย่างดีโดยอยู่ที่ประมาณ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Barrel of Oil Equivalent -- boe) นอกจากนี้ แผนการลดต้นทุนยังทำให้ต้นทุนเงินสดในการผลิตปิโตรเลียมของบริษัทยังคงรักษาระดับอยู่ได้ที่ 14 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ boe อีกด้วย
ปริมาณสำรองปิโตรเลียมลดลงแต่คาดว่าจะดีขึ้น
ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) ลดลงเหลือ 631 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (mmboe) เมื่อเทียบกับ 695 mmboe ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งปริมาณสำรองนี้คาดว่าจะสามารถผลิตได้นานประมาณ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมที่อาจผลิตได้ (Petroleum Resources) ซึ่งรวมถึงปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วและปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (Probable Reserves) รวมถึงปริมาณทรัพยากรประเภท Contingent Resources ในปริมาณสูงถึงประมาณ 4,800 mmboe ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งปริมาณดังกล่าวนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนไปเป็นปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถและภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย โครงการในปัจจุบันของบริษัทประกอบด้วยโครงการ Mozambique Rovuma Offshore Area 1 โครงการ Southwest Vietnam โครงการ Algeria HBR และโครงการอุบล (Contract 4) หากบริษัทตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายเพื่อพัฒนาโครงการเหล่านี้ บริษัทก็จะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองที่พิสูจน์ได้อีกประมาณ 1-2 ปีเมื่อเทียบกับการผลิตในปี 2560
มีโอกาสเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกช รวมถึงการซื้อและควบรวมกิจการ
บริษัทจะเข้าร่วมประมูลในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณโดยคาดว่าจะมีการประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ในปลายปี 2561 ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 82,000 boed หากบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณด้วยสัดส่วนการลงทุนในโครงการของบริษัท ณ ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บริษัทไม่ได้รับการคัดเลือก บริษัทก็อาจจะต้องพิจารณาการซื้อและควบรวมกิจการแทน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่เริ่มผลิตแล้วเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตและปริมาณสำรองของบริษัท
อัตรากำไรยังคงแข็งแกร่งจากความสำเร็จในการลดต้นทุน
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปี 2560 ช่วยให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายจะลดลง ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 2% จาก 4,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 4,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเมื่อเทียบกับรายได้) ยังคงแข็งแกร่งที่ 70.7% ในขณะที่ EBITDA ของบริษัทดีขึ้นจาก 2,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 เป็น 3,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนมากพอที่จะรองรับภาระหนี้เงินกู้ของบริษัทจำนวน 2,907 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ระหว่าง 3,400-3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 โดยอยู่บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณการจำหน่ายของบริษัทก็น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 17,000 boed ในปี 2561 ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มสัดส่วนในแหล่งบงกชได้อีก 22%
สภาพคล่องที่แข็งแกร่งมาก
บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งมาก โดย ณ สิ้นปี 2560 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 4,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 895 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินกู้ดังกล่าวจำนวน 612 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นวงเงินกู้ที่ธนาคารมีภาระผูกพันจัดหาให้ตามกำหนดเวลา (Committed Credit Line) นอกจากนี้ ยังคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ภาระหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในระยะ 12 เดือนข้างหน้ามีเพียง 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทมีแผนสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในระยะ 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีงบลงทุนจำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ก่อนภาษี) สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนอีก 22% ในแหล่งบงกช เงินสดในมือที่มีอยู่เมื่อรวมกับเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดไว้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและการชำระคืนหนี้เงินกู้ดังกล่าว
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ท้าทาย โดยความสามารถในการปรับแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและการมีสภาพคล่องที่เพียงพอจะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยในเชิงลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนกระทบต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด หรือหากบริษัทมีระดับเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการซื้อกิจการขนาดใหญ่ด้วยการใช้เงินกู้
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
PTTEP195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AAA
PTTEP196A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AAA
PTTEP296A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AAA
PTTEP12PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 5,000 ล้านบาท AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable