กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
ดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงาน "DVAb1 Demo Day" ปีที่สอง ด้วยแนวคิด UNFOLD Local CONNECT Global นำ 10 ทีมสุดยอดสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ Digital Ventures Accelerator (DVA) และผ่านการบ่มเพาะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา งานนี้ได้โชว์ศักยภาพนำเสนอธุรกิจต่อผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมรับข้อเสนอเงินลงทุนจากดิจิทัล เวนเจอร์สขั้นต่ำทีมละ 1 ล้านบาท และข้อเสนอเงินลงทุนพิเศษให้แก่สตาร์ทอัพ 3 ทีมที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการและนักลงทุน ทั้งด้านศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ การเติบโต และความพร้อมในการรับเงินลงทุน
นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า "DVAb1 Demo Day ในปีนี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพมีโอกาสสร้างรากฐานทางธุรกิจเพื่อการเติบโต และสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่ง เพื่อเชื่อมโยงสู่ลูกค้าองค์กรของธนาคารไทยพาณิชย์ในภาคธุรกิจต่าง ๆ ทำให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจให้กับด้วยบริการหรือโซลูชั่นใหม่ ๆ อีกทั้งยังโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ให้การสนับสนุนทางการเงินโดย ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้มอบข้อเสนอเงินลงทุนให้กับทุกทีมเป็นมูลค่ารวมกว่า 22 ล้านบาท นอกเหนือจากการสนับสนุนความรู้ในด้านต่างๆ ตลอด 6 เดือนที่อยู่ในโครงการ
นายชาล เจริญพันธ์ Head of Accelerator บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เสริมว่า "สตาร์ทอัพภายใต้โครงการทั้ง 10 ทีมในปีนี้ครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลาย โดยหลายทีมเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในวันนี้และอนาคต เช่น การพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) ไบโอเทค (Biotech) และบิ๊กดาต้า (Big data) ขณะที่ธุรกิจของบางทีมเกิดจากการเห็นโอกาสที่เกิดจากช่องว่างทางธุรกิจ และคิดหาบริการและโซลูชั่นมาแก้ปัญหา ใน 6 เดือนที่อยู่ในโครงการ เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างชัดเจน และในปีนี้ เราเลือกสตาร์ทอัพในธุรกิจที่หลากหลาย ไม่จำกัดเพียง Fintech เพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าองค์กรของธนาคารในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ที่ธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว (Scale & Growth) ได้อย่างแท้จริง"
คณะกรรมการตัดสินในงาน DVAb1 Demo Day ประกอบด้วย
- มนธิดา แม็คคูล (Monthida McCoole) Investment Partner, Cocoon Capital ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น และระยะที่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนแล้ว
- คาร์แมน ชาน (Carman Chan) ผู้ก่อตั้งและ Managing Partner, Click Ventures ผู้ประกอบการในธุรกิจและการร่วมลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยี
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรรมการบริหาร Grab Thailand และกรรมการผู้จัดการ/ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน
- เจฟฟรีย์ เพย์น (Jeffrey Paine) Founding Partner, Golden Gate Ventures บริษัทร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในระยะเริ่มต้น
- เกรซ หยุน เซีย (Grace Yun Xia) ผู้อำนวยการ Jungle Ventures มีประสบการณ์ด้านการลงทุน การวางแผนกลยุทธ์องค์กร และการพัฒนาธุรกิจ ทั้งในธุรกิจสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้น และบริษัทใน Fortune 500
โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุดที่ได้รับการพิจารณาด้านศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ การเติบโต และความพร้อมในการรับเงินลงทุนมีดังต่อไปนี้
- รางวัลพิเศษ Popular Vote ได้แก่ Meticuly ผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเฉพาะบุคคลให้เข้ากับสรีระผู้ป่วยแต่ราย ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ได้รับเพคเกจที่ปรึกษาด้านการกฎเป็นระยะเวลา 6 เดือน มูลค่า 400,000 บาท จาก Baker & McKenzie
- รางวัล Bronze Award ได้แก่ Energy Response แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการจัดการพลังงานในอาคารอย่างชาญฉลาด ด้วยเทคโนโลยี Internet of Things, Big Data Analytics และ Predictive Insights, ได้รับข้อเสนอด้านการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 2.4 ล้านบาท (ราว 7.5 หมื่นดอลล่าร์สหรัฐฯ)
- รางวัล Silver Award ได้แก่ MyCloudFulfillment ผู้ให้บริการด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์แบบครบวงจร พร้อมระบบตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ ได้รับข้อเสนอด้านการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 4.8 ล้านบาท (ราว 1.5 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ)
- รางวัล Gold Award ได้แก่ Meticuly ผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเฉพาะบุคคลให้เข้ากับสรีระผู้ป่วยแต่ราย ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ได้รับข้อเสนอด้านการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 8.0 ล้านบาท (ราว 2.5 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ)
ในขณะที่ สตาร์ทอัพอีก 7 ทีมที่ขึ้นเวทีนำเสนอธุรกิจ ประกอบด้วย ChomCHOB แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนแต้มคะแนนบัตรเครดิตและบัตรสมาชิกต่าง ๆ ให้ใช้ได้เสมือนเงิน, Dootv Media ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งสำหรับการถ่ายทอดสดออนไลน์ ตั้งแต่การถ่ายทำและการส่งสัญญาณ และการให้บริการขายหรือเช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง, Event Banana แพลตฟอร์มการจัดการด้านพื้นที่และสถานที่จัดงาน รวบรวมข้อมูลสถานที่จัดงานกว่า 800 แห่งในหลากหลายรูปแบบทั่วประเทศไว้ในที่เดียว, Happenn ระบบงานอีเว้นท์ที่ครบจบในที่เดียว ตั้งแต่การลงทะเบียน จัดทำแอพพลิเคชั่น การจับคู่ธุรกิจ และการออกแบบเวที ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน, JuiceInnov8 ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการลดน้ำตาลในน้ำผลไม้ด้วย Biotechnology ให้กับกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งในไทยและต่างประเทศ, Ooca บริการปรึกษาจิตแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอลพร้อมมาตรฐานการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว และ Sellorate แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับตัวแทนและนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์อิสระพร้อมระบบ Digital Reality และวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด จะได้รับเงินลงทุนจากดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ทีมละ 1 ล้านบาท
เกี่ยวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures)
ดิจิทัล เวนเจอร์ส คือบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารฯ เบื้องต้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส มีเงินลงทุนใน Financial Technology จำนวน 1,750 ล้านบาท (หรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ ข้อมูลเพิ่มเติม www.dv.co.th