ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศที่ฟื้นตัว เชื่อดัชนีในอนาคตจะปรับเพิ่มอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 ปลายปี 2550 เสนอรัฐยกเลิกมาตรการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ เพราะต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Friday October 19, 2007 09:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--ส.อ.ท.
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 571ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ81.0จาก 76.0 ในเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมาโดยได้รับผลดีจาก ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการปรับเพิ่มเงินเดือนทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งเดือนปัจจุบัน และอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนธันวาคม2550) ด้านต้นทุนการประกอบการสามารถปรับตัวลดลงบ้างจากราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา การปรับใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมัน ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมปรับตัวดีขึ้น
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม คาดการณ์เดือนธันวาคม2550อยู่ที่94.9ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดัชนีคาดการณ์เดือนพฤศจิกายน2550ที่อยู่ในระดับ 91.5 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี (เข้าใกล้100)ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นการคาดการณ์ในด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิตที่จะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อรองรับกับเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่
เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมภายนอกของกิจการ พบว่าหลายๆ ปัจจัยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมือง ประกอบกับการปรับปรุงกิจการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อได้ว่าดัชนีฯ คาดการณ์จะปรับเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่สูงกว่า100 ภายในปีนี้
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ปรับเพิ่มขึ้นโดยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลดีจากการปรับตัวของกิจการที่สามารถทำได้ดี เช่น การลดความสูญเสียจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า เศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้านความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากอัตราและเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพและอ่อนค่าลงเล็กน้อย ยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ การสั่งสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ สำหรับความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งได้รับผลดีจากการเร่งใช้จ่ายงบประมาณในช่วงเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ2550 เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดส่งออก ปรับเพิ่มขึ้นโดยได้รับผลดีมาจากปัจจัยคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อเพื่อรองรับกับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพและอยู่ระดับที่อ่อนค่าลง ด้านอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยได้รับผลดีจากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณในปี2550 รวมทั้งความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองที่มีมากขึ้นตามลำดับ
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ เพราะต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ/การบริโภค สร้างความมีประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ ลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษี อีกทั้งส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยทางด้านส่งเสริมการแข่งขันด้านตลาดกับต่างประเทศ และนโยบายการลงทุนในต่างประเทศที่ชัดเจน เร่งแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และดูแลค่าเงินบาทมิให้แข็งค่าและมีเสถียรภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ