กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรเผยมะพร้าวฟื้น รับรองสารกำจัดหนอนหัวดำที่นำมาใช้ปลอดภัยไม่ตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว เล็งพัฒนาเกษตรกรเข้มแข็งใช้ชีววิธีต่อเนื่อง
ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ประกอบด้วย กิจกรรมการฉีดสารกำจัดหนอนหัวดำเข้าต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร จำนวน 2,608,034 ต้น พ่นสารกำจัดหนอนหัวดำทางใบมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร จำนวน 1,269,100 ต้น และปล่อยแตนเบียนบราคอน 252 ล้านตัว ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ เมษายน 2560 – มิถุนายน 2561 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการฉีดสารกำจัดหนอนหัวดำเข้าต้นเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบการฟื้นตัวของต้นมะพร้าวดีขึ้นตามลำดับ สามารถให้ผลผลิตได้ตามปกติ และขณะนี้ดำเนินการพ่นสารทางใบเพื่อกำจัดหนอนหัวดำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการปล่อยแตนเบียนบราคอน 29 จังหวัด จำนวน 157,670,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 62 (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2561)
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ต้อนรับนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางตรวจราชการ จ.สุราษฎร์ธานี ประกอบกับการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการฯ ในจังหวัดต่าง ๆ ที่พบการระบาด พบว่าโดยรวมสวนมะพร้าวของเกษตรกรฟื้นตัวดีขึ้น มะพร้าวแตกยอดเขียว หลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปดูแลพื้นที่ระบาดโดยให้เกษตรกรใช้วิธีผสมผสานในการกำจัดหนอนหัวดำคือ การตัดทางใบที่หนอนหัวดำเข้าทำลาย และการปล่อยแตนเบียนบราคอนกำจัดหนอนหัวดำ กระทั่งสุดท้ายเลี่ยงการใช้สารกำจัดได้ ทั้งนี้ สารกำจัดหนอนหัวดำที่ใช้ฉีดและพ่น กรมส่งเสริมการเกษตรมีการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ใช้สารกำจัดหนอนหัวดำเกี่ยวกับสารและวิธีการใช้อย่างถูกต้องตามหลักที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ โดยสารกำจัดหนอนหัวดำที่นำมาใช้นี้มีการทดสอบแล้วว่าสามารถกำจัดหนอนหัวดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้างในน้ำ และเนื้อมะพร้าว โดยหลังการใช้สารดังกล่าว 15 วัน จะปล่อยแตนเบียนบราคอน และรณรงค์ให้เกษตรกรผลิตแตนเบียนบราคอนควบคุมหนอนหัวดำอย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปดูแลให้ความรู้แก่เกษตรกรใช้วิธีผสมผสานเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ พบว่าเกษตรกรพอใจกับการฟื้นตัวของมะพร้าว และตื่นตัวในการรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้และช่วยกันป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น จากการเรียนรู้วิธีผลิตแตนเบียนบราคอน และผลิตศัตรูทางธรรมชาติด้วยตัวเกษตรกรเองผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ซึ่งเป็นศูนย์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อให้สามารถบริหารจัดการป้องกันศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ให้ ศจช. ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนส่งเสริมพัฒนากลุ่มเกษตรกร ศจช. ให้มีความเข้มแข็งและมีความรู้ในการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีทางธรรมชาติต่อไป ส่งผลให้การใช้สารกำจัดศัตรูพืชลดลงได้ในอนาคต