กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (ทีเซลส์ / TCELS) พร้อมมอบนโยบายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ด้านสุขภาพ หรือ Healthcare & Wellness โดยมี ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า "Healthcare & Wellness เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ เนื่องจากในอนาคตเรื่องของสุขภาพ (Healthcare) เป็นเรื่องที่สำคัญในระดับโลก ประเทศไทยมีศักยภาพในการดำเนินงานส่วนนี้ จึงต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน แต่ยังขาดในเรื่องของการบริหารจัดการ อยากให้ ศลช. มีพลังในการขับเคลื่อนประเทศผ่านเรื่องนี้ ประกอบกับ ศลช. (ทีเซลส์ / TCELS) มีบทบาทในการดำเนินงานที่หลากหลายมิติ ซึ่งภายใต้บทบาทการดำเนินงานนี้ จึงต้องปรับการดำเนินงานให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบโจทย์การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยผ่านการดำเนินงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะ Healthcare & Wellness เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย"
"นอกจากนี้ ศลช. มีภารกิจที่สำคัญมากในอนาคต ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน โดยการวางกรอบกำหนดทิศทางของประเทศ ช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ตอบโจทย์กับยุทธศาสตร์ชาติต่อไป และกำหนดนโยบาย วางแผนยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการดำเนินงาน พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ด้านสุขภาพ ซึ่งได้มอบนโยบาย 4 ประเด็นหลักดังนี้
1. Clinical Research Infrastructure : การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกคือ ชุดของกระบวนการใน
การวิจัยทางการแพทย์ และการพัฒนายาที่ทำขึ้นเพื่อประเมินข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย และประสิทธิภาพของเครื่องมือต่างๆ ในการให้บริการสุขภาพ เช่น ยา การตรวจ อุปกรณ์ และวิธีการรักษา เป็นต้น การพัฒนาด้านนี้ จะช่วยให้มีงานวิจัยที่ทันสมัยต่างๆ เกิดขึ้นได้
2. Precision Medicine : การแพทย์เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ตรวจลึกถึง
ระดับยีน เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา ป้องกันได้อย่างแม่นยำ โดยทำความเข้าใจเอกลักษณ์อันแตกต่างของตัวคุณและโรคที่กำลังเผชิญ เทรนด์นี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ มักมีการค้นพบใหม่ๆ อยู่เสมอ ยิ่งเพิ่มแนวโน้มความสำเร็จในการรักษา และสร้างผลข้างเคียงที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนความซ้ำซ้อนในการลองผิดลองถูกที่กินเวลานาน ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาว ซึ่งประเทศไทยเองก็ควรที่ตามกระแสนี้ให้ทัน
3. Aging Industry : การพัฒนา Functional Food, Medical, Service Robot, Medical
Software
4. Herbal Plant Factory : ควรมุ่งเน้นไปที่สมุนไพร หรือ สารสกัดไม่กี่ชนิด แล้วพัฒนาให้เป็น
ผลิตภัณฑ์ในระดับโลก และควรเลิกการ "Do something in everything" แล้วหันมา "Do everything in something" แทน
นอกจากนี้ ผมเห็นด้วยกับแนวทางในการสร้าง Medicopolis หรือ "เวชนคร" รูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านการแพทย์ควบคู่ไปกับ Health Informatics โดยโครงการนี้สามารถรวมอยู่ใน EECi เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วย Frontier Research" ดร.สุวิทย์กล่าว
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ศลช. หรือ ทีเซลส์ (TCELS) มุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถ และบุคลากรภายในควบคู่ไปกับพลังของการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นในห้องทดลองไปจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดจริง ศลช. ดำเนินการให้ทุนวิจัย พัฒนาห้องทดลองและอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐานสากล มีการต่อยอดงานวิจัย และส่งเสริมในเชิงธุรกิจ ให้การอบรมผู้เชี่ยวชาญการถ่ายทอดเทคโนโลยี Registered Technology Transfer Professional (RTTP) รวมถึงการพัฒนาภายนอก โดยดึงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เข้ามาเสริมผ่านการลงทุนร่วม และการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ให้คำปรึกษาภาคเอกชน บริการข้อมูลความรู้ เชิญชวนและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยา พร้อมทั้งสร้างแพลต์ฟอร์มขยายช่องทางธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ทำให้เกิดเป้าหมาย และขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน"
"ปัจจุบัน ศลช. มีศูนย์เทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด ทำหน้าที่ในการค้นหาตัวยาใหม่ๆผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์เซลล์ตั้งต้น และผลิตเซลล์ในเชิงพาณิชย์ด้วยระบบอัตโนมัติ ศลช. ได้วางแผนกลยุทธหลักในการพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นใน 2 เรื่องหลัก คือ อุตสาหกรรมยา และเครื่องมือแพทย์ไปสู่ medical therapy industry และการพัฒนา high-end service base ด้วยระบบ AI / Big Data ผ่าน 4 โปรแกรมคือ Biopharma, Cell&Gene, Robotic และ Cosmetic" ดร.นเรศกล่าว