กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. คว้ารางวัล Special Prize เวทีแข่งขันซอฟต์แวร์ระดับโลก จากผลงานแอพพลิเคชั่นค้นหาร้านค้าบนอินสตาแกรม เล็งขยายแพลตฟอร์มรับดีมานด์ตลาดอีคอมเมิร์ซพันล้าน
ปัจจุบันโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนเราในทุกๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่การเลือกซื้อสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและความงาม ที่ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น หันมาช้อปปิ้งสินค้ากลุ่มนี้ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยผลสำรวจจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุว่าคนไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) มากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ "กลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย" ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 44 ในขณะที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2.5 พันล้านบาท
จากไลฟ์สไตล์และความนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ดังกล่าวที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ ผศ.ดร.กิติ์สุชาต พสุภา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ประกอบด้วย นายวีรภัทร ทรัพย์สมบูรณ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้นปีที่ 3 นายธนวัฒน์ หลอดแก้ว สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้นปีที่ 2 และนายณัฎฐ์ ชูกำแพง สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ (หลักสูตรแรกในประเทศไทย) ชั้นปีที่ 1 เกิดเป็นไอเดียในการพัฒนาระบบค้นหาร้านค้าออนไลน์บน Instagram ด้วยรูปถ่ายสินค้า ในรูปแบบเว็ปแอปพลิเคชันชื่อว่า "Fashion Finder" เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้บริโภคในการค้นหาสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ที่พบเจอในโลกออนไลน์หรือชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้ว บอกลาปัญหากวนใจเมื่อพบเห็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่ถูกใจแต่ไม่รู้ว่าจะไปหาซื้อที่ไหน ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคไอทีได้อย่างตรงจุด
ผศ.ดร.กิติ์สุชาต อาจารย์ที่ปรึกษาโปรแจคพัฒนาระบบค้นหาร้านค้าออนไลน์บน Instagram ด้วยรูปถ่ายสินค้า ในรูปแบบเว็ปแอพพลิเคชั่น "Fashion Finder" เล่าถึงจุดเริ่มต้นไอเดียการพัฒนาผลงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า การซื้อสิ้นค้าออนไลน์เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การซื้อขายสินค้ายุคไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ปัจจุบันมีการซื้อขายผ่าน Instagram เป็นจำนวนมาก โดยผลสำรวจในประเทศไทยพบมีผู้ใช้และร้านค้าบนแอปพลิเคชันดังกล่าว มากถึง 11 ล้านคน แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้บริโภค แม้ว่าเจ้าของร้านจะโพสต์รูปสินค้าเป็นระยะๆ เพื่อโฆษณาและสร้างความสนใจให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการค้นหาร้านค้าที่ขายสินค้าที่ต้องการหรือคล้ายคลึงกัน เนื่องจากไม่มีระบบค้นหาสินค้าด้วยคีย์เวิร์ดและการค้นหาตามหมวดหมู่ ทำให้ผู้ซื้อต้องเสียเวลาไปกับการหาสินค้าออนไลน์และบ่อยครั้งอาจต้องไปค้นหาสินค้าตามร้านค้าทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากอินสตาแกรมถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ สำหรับเป็นพื้นที่ในการแชร์ภาพถ่ายและไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ได้มีไว้เพื่อซื้อขายสินค้าทำให้มีข้อจำกัดในการค้นหาร้านค้าและสินค้า ดังนั้น ผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้จัก User ID หรือชื่อร้านค้าที่ถูกต้อง เพื่อเข้าไปค้นหาสินค้าที่ต้องการ ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้เสียเวลาไปกับการไล่ค้นหาโพสต์เก่าๆ
จากปัญหาข้างต้นจึงนำมาซึ่งแนวคิดในการแก้ปัญหา โดยพัฒนาเป็นระบบค้นหาร้านค้าออนไลน์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันชื่อว่า "Fashion Finder" เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาร้านค้าออนไลน์บนอินสตาแกรม ที่จำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทันที ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ กางเกง กระโปรง และอื่นๆ ด้วยการใช้งานแบบง่ายๆ เพียงอัปโหลดรูปภาพสินค้าที่ต้องการ ระบบจะแสดงรายการสินค้าของร้านค้าที่ลงทะเบียนในระบบ จึงช่วยลดขั้นตอนในการค้นหาด้วยการดูทีละโพสต์ ในขณะเดียวกันเจ้าของร้านค้ายังสามารถเพิ่มสินค้าใหม่ไปยังคลังข้อมูลได้ตามความต้องการ โดยอาศัยการทำงานผ่านอัลกอริทึมโครงข่ายประสาทเทียมแบบสังวัตนาการ (Convolutional Neural Network: CNN) อันเป็นหนึ่งในประเภทของการเรียนรู้เชิงลึกมาใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดคุณลักษณะของรูปภาพ พร้อมกับพัฒนาระบบย่อยอีก 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. ระบบตัดแบ่งส่วนและระบุประเภทของเสื้อผ้าอัตโนมัติ (Automatic Clothes Segmentation and Tagging) โดยระบบจะรับรูปภาพที่มีคนสวมใส่เสื้อผ้าที่ผู้ซื้อต้องการและทำการตัดภาพให้เหลือเฉพาะส่วนของเสื้อผ้าพร้อมระบบประเภท และ 2. ระบบสกัดคุณลักษณะของรูปภาพ (Feature Extraction) เพื่อใช้เป็นตัวแทนรูปภาพของสินค้านั้น ๆ และบันทึกอยู่ในฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ รูปถ่ายสินค้าที่ผู้ใช้ต้องการจะถูกนำมาเปรียบเทียบ กับสินค้าที่มีอยู่ในระบบ เพื่อแสดงภาพและร้านค้าที่มีสินค้าที่ต้องการ
"การใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ผู้ซื้อ (Buyer) โดยการค้นหาร้านค้าบนอิสตาแกรมจากการอัปโหลดรูปภาพ โดยหลังจากการอัปโหลดระบบจะทำการแยกส่วนและระบุประเภทของเสื้อผ้าที่อยู่บนรูปผ่านระบบตัดแบ่งส่วนและระบุประเภทของเสื้อผ้า และผู้ซื้อสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการจากนั้นระบบจะแสดงรายชื่อร้านค้า ที่มีสินค้านั้นขายหรือสินค้าที่คล้ายคลึงกัน โดยผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติมได้โดยการคลิกที่สินค้าที่ต้องการ เพื่อไปยังหน้าแอคเคาท์ร้านค้าในอินสตาแกรม และ 2. เจ้าของร้าน (Seller) สามารถเพิ่มสินค้าไปยังคลังสินค้าด้วยการกรอก User ID ของร้านค้า และวันที่เริ่มให้ระบบดึงรูปภาพที่โพสต์บนอินสตาแกรมไปแสดงในแอปพลิเคชัน Fashion Finder ได้" ผศ.ดร.กิติ์สุชาต กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันผลงานดังกล่าวอยู่ในขั้นพัฒนาต่อยอดเพื่อการใช้งานที่ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ผลงานชิ้นนี้สามารถคว้ารางวัล Special Prize ในการแข่งขัน NAPROCK 9th International Programming Contest เวทีการแข่งขันด้าน Software ระดับนานาชาติ จัดขึ้น ณ เมืองชูนาน จังหวัดยามากุจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนทีมที่เข้าร่วมกว่า 150 ทีม จาก 7 ประเทศทั่วโลก และยังได้ผ่านเข้ารอบ Final ในรายการ International ICT Innovative Services Awards 2017 ณ ประเทศไต้หวัน เมื่อระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาอีกด้วย
ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานของชาวไอทีรั้วแคแสด กับการพิสูจน์ความสามารถในเวทีระดับนานาชาติได้สมความภูมิ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th