กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกเป็นสินค้ามาตรฐานตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่งกำหนดความบริสุทธิ์หรือเปอร์เซ็นต์ข้าวของข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข. 15 ต้องไม่ต่ำกว่า 92% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยมีมาตรการการกำกับดูแลและการตรวจสอบที่เข้มงวด ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (promotion) อย่างต่อเนื่องตลอดมา ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนกำหนดมาตรฐาน
กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการเข้มงวดในการติดตามคุณภาพมาตรฐานข้าวที่ส่งออกอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจพบผู้ประกอบการบางรายทำการปลอมปนข้าว โดยเฉพาะในปี 2546 เกิดวิกฤตการณ์ปลอมปนข้าวหอมมะลิไทย โดยนำข้าวพันธุ์อื่นเช่น ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวหอมพิษณุโลก และข้าวหอมสุพรรณบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย ผสมหรือปนเข้าไป แล้วขายในชื่อของข้าวหอมมะลิไทย ประกอบกับกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น โดยการตรวจความสุกในเมล็ดข้าวที่ต้มในน้ำเดือด เป็นเวลา 17 นาที หรือวิธีการตรวจหาปริมาณข้าวหอมมะลิไทยทางเคมี (หาค่าระดับการสลายเมล็ดข้าวในด่าง) ไม่สามารถตรวจสอบสายพันธุ์ หรือแยกข้าวหอมมะลิไทยออกจากข้าวพันธุ์อื่น ๆ ได้ แต่วิธีการตรวจสอบวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) สามารถที่จะตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวได้อย่างแม่นยำและชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเน้นคุณภาพข้าวที่ส่งออกต้องเป็นข้าวหอมมะลิไทยจริงไม่ให้มีการปลอมปน กระทรวงพาณิชย์ได้นำวิธีการนี้มาใช้ในการสุ่มสอบทานการปลอมปน ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดส่งตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ หากปรากฏผลการวิเคราะห์ข้าวส่งออกในจำนวนหรือล๊อตนั้นๆ มีคุณภาพไม่ถูกต้อง จะถูกระงับการส่งออก และผู้ส่งออกต้องนำข้าวมาปรับปรุงคุณภาพให้ถูกต้องตามมาตรฐานก่อน จึงจะอนุญาตให้ส่งออกต่อไป วิธีนี้เป็นการป้องกัน และ ป้องปรามผู้ส่งออกจากการปลอมปน เนื่องจากผลการวิเคราะห์เป็นข้อบ่งชี้ชัดทางวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับกันในสากล พร้อมกันนี้ก็มีกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อผู้เกี่ยวข้องซึ่งทำการผลิตและการค้าข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ในปี 2547 48 49 และ2550 (มค.-มิย. : ดูตารางประกอบ) ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวในขั้นตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยในขณะส่งออก ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อจัดส่งตรวจเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) เป็น จำนวน 65 319 330และ 149 ตัวอย่าง ตามลำดับ ผลการตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรมในภาพรวม พบว่า กลุ่มตัวอย่างข้าวส่งออกมีคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด มีอัตราแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็น ร้อยละ 80.0 94.7 94.5 และ 97.3 ขณะเดียวกัน ในกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพไม่ถูกต้องมีแนวโน้มลดต่ำลง โดยเป็นร้อยละ 20.0 5.3 5.5 และ 2.7 เช่นเดียวกับกลุ่มข้าวผสม (80:20) ลดลง เป็นร้อยละ 7.7 6.6 6.0 และ 2.7 ตามลำดับในช่วงเวลาดังกล่าว
จากการเปรียบเทียบกับ ในช่วง ปี 2546 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะนำวิธีการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม(DNA) มากำหนดใช้ในการตรวจทานได้ พบกลุ่มตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยส่งออกคุณภาพถูกต้องเพียงร้อยละ 53 และกลุ่มตัวอย่างคุณภาพไม่ถูกต้องร้อยละ 47 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปลอมปนหรือกลุ่มตัวอย่างข้าวที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดได้ลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนัก (awareness)ให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าส่งออกข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มมากขึ้น
ตารางแสดงการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทย โดยการตรวจสอบเอกลักษณ์
พันธุกรรม (DNA) ปี 2546 ก่อน/หลัง มีมาตรการ และปี 2547-2550 (ม.ค.-มิ.ย.)
รายละเอียด 2546 ** 2547 2548 2549 2550 (ม.ค.-มิ.ย.)
ตัวอย่าง % ตัวอย่าง % ตัวอย่าง % ตัวอย่าง % ตัวอย่าง %
จำนวนตัวอย่างที่สุ่มตรวจสอบDNA 100 100 65 100 319 100 330 100 149 100
ขณะส่งออกทั้งหมด
- มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด 53 53.00 52 80.00 302 94.67 312 94.55 145 97.32
- มีคุณภาพไม่ถูกต้องตามมาตรฐานกำหนด 47 47.00 13 20.00 17 5.33 18 5.45 4 2.76
- ปริมาณข้าวหอมมะลิไทยร้อยละ96-100 10 10.00 32 49.23 230 72.10 245 74.24 118 79.19
- ปริมาณข้าวหอมมะลิไทยร้อยละ92-95 23 23.00 13 20.00 52 16.30 44 13.33 19 12.75
- ปริมาณข้าวหอมมะลิไทยน้อยกว่าร้อยละ92 43 43.00 15 23.08 16 5.02 21 6.36 8 5.37
- ปริมาณข้าวหอมมะลิไทยร้อยละ92-100 13 13.00 - - - - - - - -
- ปริมาณข้าวหอมมะลิไทย (ผสม80:20) 11 11.00 5 7.69 21 6.58 20 6.06 4 2.68
ค่าเฉลี่ยปริมาณข้าวหอมมะลิไทย 82 90 96 96 96
หมายเหตุ : ** เป็นปีที่เริ่มทำการทดสอบด้วยวิธีการตรวจพันธุกรรม (DNA) เนื่องจากพบปัญหาวิธีการตรวจสอบทางกายภาพและทางเคมีไม่สามารถ ตรวจสอบการปลอมปน ข้าวบางสายพันธุ์ เช่น ปทุมธานี 1 คลองหลวง 1 หอมสุพรรณได้
ปกติโดยอาชีพของผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์) และพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) ย่อมแสดงผลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออกทุกกอง/ล๊อต/ทุกครั้ง มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดทั้งสิ้น โดยวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีเบื้องต้น (ต้มข้าว) แม้ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวกอง/ล๊อตเดียวกัน (Counter Check) โดยหน่วยตรวจสอบของสำนักงานมาตรฐานสินค้า อาจจะมีคุณภาพตรงหรือไม่ตรงกันได้ ซึ่งไม่สามารถระบุสัดส่วนของข้าวพันธุ์อื่นที่ปลอมปนเข้ามา แต่การตรวจทานโดยใช้วิธีการตรวจสอบด้านเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) สามารถระบุได้ ผู้ตรวจสอบฯ จึงให้ความระมัดระวังและกังวลเพิ่มมากขึ้นในการตรวจสอบคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย ก่อนการตรวจปล่อย ซึ่งหากผลการวิเคราะห์ของตนไม่ถูกต้อง จะกระทบ กระเทือนถึงความน่าเชื่อถือในวิชาชีพการให้บริการได้ในอนาคต
การสุ่มตรวจทานเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิไทยในขณะตรวจปล่อยสินค้า (loading) ณ โกดังของผู้ส่งออก โดยวิธีการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ข้าวจำนวนนั้น ๆ จะถูกขนถ่ายลงเรือเพื่อนำไปสู่ตลาดปลายทางตามการซื้อขาย ทำให้ผู้ส่งออกตื่นตัวเพิ่มความระมัดระวังและจัดเตรียมสินค้าดีกว่าเดิมมากขึ้น พยายามรักษาคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยสูงเท่ากับหรือสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการป้องปราม/ป้องกันไม่ให้มีการปลอมปนข้าวขาวอื่น ๆ ในข้าวหอมมะลิไทย อีกทั้งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนกระทั่งถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร โรงสี พ่อค้าท้องถิ่นและผู้ส่งออกมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR : Corporate Social Responsibility) ที่จะมุ่งมั่นรักษาและปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยส่งออกอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในที่สุด
สำหรับการส่งออกสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึง 2549 มีปริมาณเท่ากับ 2.3 2.2 2.3 2.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 32.3 35.8 34.6 และ 40.1 พันล้านบาทตามลำดับ ส่วน 8 เดือนแรกของปี 2550 (ม.ค. — ส.ค.) ได้ส่งออกไปแล้ว 1.86 ล้านตัน มูลค่า 29.50 พันล้านบาท สัดส่วนการส่งออกข้าวขาว : ปลายข้าว : ข้าวกล้องเท่ากับ 60 : 39 : 1 โดยตลาดส่งออกหลักข้าวขาว คือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์ ปลายข้าว ได้แก่ เซเนกัล COTE D IVOIRE และ GHANA ข้าวกล้อง คือ REUNION เนเธอร์แลนด์และอังกฤษ
หมายเหตุ : ** เป็นปีที่เริ่มทำการทดสอบด้วยวิธีการตรวจพันธุกรรม (DNA) เนื่องจากพบปัญหาวิธีการตรวจสอบทางกายภาพและทางเคมีไม่สามารถ ตรวจสอบการปลอมปน ข้าวบางสายพันธุ์ เช่น ปทุมธานี 1 คลองหลวง 1 หอมสุพรรณ ได้