กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีปิดและกล่าวปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2561 "สร้างคน สร้างงาน สร้างสุข สานพลังที่ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน" ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีปิดและกล่าวปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2561 "สร้างคน สร้างงาน สร้างสุข สานพลังที่ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน" ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ ว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านปัญญา โดยเฉพาะการพัฒนาสุขภาวะของเกษตรกร ซึ่งมีกว่า 10 ล้านครอบครัว กระทรวงเกษตรฯ พยายามขับเคลื่อนหลายๆ นโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เช่น การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ โดยบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด เช่น ยางพารา และข้าว การดูแลเกษตรกรทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ซึ่งล่าสุด คือ การให้บรรจุว่าการทำนาเกลือเป็นสินค้าเกษตร การพัฒนาโครงสร้างการผลิตการเกษตรให้เข้าถึงเกษตรกร ทั้งระบบน้ำ และคุณภาพดิน จนถึงผลิตของเกษตรกรที่มีความปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรเอง และผู้บริโภค
กระทรวงเกษตรฯพยายามขับเคลื่อนและชี้แนะเกษตรกรผลิตหรือปลูกอะไรแล้วต้องมีรายได้ โดยให้พิจารณา 2 ปัจจัยหลัก คือ ดูความสามารถของเกษตร เช่น เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่ และ ดูตลาด ถ้าตลาดไม่ดี ก็ต้องแนะนำให้ปรับเปลี่ยน เช่น การปลูกข้าว ซึ่งก็ย้ำมาโดยตลอดว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่มีนโยบายลดปลูกข้าวแต่ต้องจูงใจเกษตรกรให้ปลูกในปริมาณที่เหมาะสมปีละ 25 – 28 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและ เหลือเก็บส่งออกไม่เกิน 10 ล้านตัน ราคาข้าวก็จะไม่แพงกินไปและไม่ถูกเกินไป เป็นความท้าท้ายของหน่วยผลิตที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องบริหารจัดการให้ได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมวิธีการผลิตที่มีความปลอดภัยด้านสารเคมีตกค้าง หรือยกระดับไปถึงการผลิตสินค้าอินทรีย์ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเกษตรกรขาดแรงจูงใจ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อสินค้าเกษตรทั่วไปมากกว่าอินทรีย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และสสส. ในการรณรงค์การบริโภคอาหารสุขภาพ สร้างความมั่นใจผู้บริโภค เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ที่จะส่งผลต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน