กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. จับมือรัฐและเอกชน ฝึกอาชีพผู้ต้องขัง เน้นพ้นโทษมีงานทำ มีรายได้ สร้างชีวิตใหม่
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กพร. ส่งเสริมและสนับสนุนเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะจำนวน 9 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด ผู้ต้องขัง/เยาวชนสถานพินิจ ทหารบาดเจ็บและทุพพลภาพ ชนกลุ่มน้อย คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ แรงงานนอกระบบ ทหารเกณฑ์ก่อนปลดประจำการ แรงงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าฝึกอาชีพในสาขาช่างอุตสาหกรรม การประกอบอาชีพอิสระ และกลุ่มอาชีพธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้คนกลุ่มเหล่านี้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่าในส่วนของผู้ต้องขังจากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมระบุว่ามีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 346,470 คน บางส่วนเป็นกำลังแรงงานและมีศักยภาพในการทำงาน สามารถนำมาทดแทนในสาขาอาชีพที่กำลังขาดแคลนได้ พร้อมกับเป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษได้ กพร. จึงลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมการจัดหางาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนิน "โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง" ทุกหน่วยงานจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสและคุณภาพที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพ จริยธรรม ให้โอกาสกับผู้เคยกระทำผิดปรับปรุงตนเอง เป็นเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ในส่วนของกพร. ดำเนินการฝึกอาชีพในหลักสูตรตามความต้องการของผู้ต้องขังและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งประกอบชิ้นงานเพื่อจำหน่ายและสร้างรายได้แก่ผู้ต้องขัง ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในการวัดระดับทักษะฝีมือ แก้ไขข้อบกพร่อง เพิ่มโอกาสในการมีทำงานหลังพ้นโทษ และได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ส่วนหน่วยงานอื่นๆ มีการแนะแนวอาชีพ ให้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน แนะนำการประกอบอาชีพอิสระ รับลงทะเบียนและบริการจัดหางานให้แก่ผู้พ้นโทษ
"ผลการขับเคลื่อนรองรับ MOU ในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เกิดความภาคภูมิใจในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และจะไม่กลับไปทำผิดอีก ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จัดฝึกอบรมในเรือนจำและทัณฑสถานในจังหวัดต่างๆ ในปี 2560 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 7,313 คน ในปี 2561 ดำเนินการฝึกอบรมแล้ว 4,168 คน อาทิ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างก่ออิฐฉาบปูน การทำขนมไทย การนวดตอกเส้นเพื่อสุขภาพ เป็นต้น" อธิบดีกพร. กล่าว