กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--มทร.ธัญบุรี
29 ผลงานของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี " Creative Craft Bouquet " ภายในงานโครงการเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กับวัฒนธรรมไทย " กิน อยู่ อย่างไทย ก้าวไปกับ Thailand 4.0 " การนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เรียนมานำเสนอผ่านผลงานของแต่ละคน
นายวิจิตร สนหอม อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีและงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ และอาจารย์ประจำวิชาการนำเสนองานประดิษฐ์ เล่าว่า ตามหลักสูตรทางการศึกษาได้จัดให้มีรายวิชาการเรียน การสอนในวิชาการนำเสนองานประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิชาเรียนในหลักสูตรของคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปกับสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยี ผสมผสานกับเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะการจัดดอกไม้ผนวกกับแนวคิดสมัยใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบร่วมสมัย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล thailand 4.0 และสอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพ การศึกษา ระดับอุดมศึกษาให้มีการบูรณาการ การเรียนการสอนร่วมกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมโดยมีการนำรายวิชาการเสนองานประดิษฐ์, สัมมนางานประดิษฐ์,วัสดุในงานประดิษฐ์ และเทคนิคการจัดดอกไม้มีการผสมผสานเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ ศิลปประดิษฐ์แสดงเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้เกิดองค์ความรู้เผยแพร่ให้กับนักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป จึงได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานถ่ายทอดออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ ในงานแสดงดอกไม้ ( Creative Craft Bouquet) โดยมีผลงานของนักศึกษาชั้นที่ 3 ทั้งหมด 29 ผลงาน
นางสาวนิภาพร บุญจง นายนราธิป แสนบรรดิษฐ์ และนางสาววาสินี เกตุไทย เจ้าของผลงาน หนังสือดอกไม้ (Flower Book) เล่าว่า ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงความหมายและความหอมหวานของปัญญา ที่ผู้ใดก็ใฝ่ฝัน จะได้กลิ่น ผ่านชื่อผลงานหนังสือดอกไม้ จากการสร้างสรรค์ชิ้นงานก่อให้เกิดงานประดิษฐ์ที่แฝงไปด้วยคุณค่าด้านความหมาย และความสวยงาม โดยใช้องค์ความรู้ในศาสตร์ของคหกรรม และฝีมือรังสรรค์ผลงานอย่างบรรจงและประณีต นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานอันสื่อความหมายให้เห็นถึงความสำคัญของปัญญา หากจะกล่าวถึงสิ่งที่นำทางมนุษย์พ้นจากความมืดมน พานพบกับแสงสว่างอันหมายถึง ปัญญา หากความรู้และปัญญา เปรียบประดุจดอกไม้ กลิ่นหอมหวาน เย้ายวนใจ น่าลุ่มหลง
นางสาวพัลลภา สายดี นางสาวเปรวดี เทียนสื่อเจริญ และนางสาวศุภนุช วิสุทธิวรรณ เจ้าของRainbow of The new Sky เล่าว่า การนำเถาวัลย์ ซึ่งเป็นไม้เลื้อยธรรมชาติ ที่มีลักษณะคดเคี้ยว เหนียวแน่น นำมาผสมผสานกับดอกไม้วรรณะร้อน ที่มีผลงานต่อความรู้สึก โดยออกมาในรูปแบบของรังนก เกิดเป็นบูเก้ที่สวยแปลกไปจากช่อดอกไม้ทั่วๆ ไปเช่นเดียวกับ นายดนัย คำนิล นางสาวกชกร วรรณะ นางสาวสริดา จารุศรีกมล และนางสาวสุภมาส ต่วนเขียว ผลงานงอบไทย เล่าว่า"งอบ" หมวกสานคล้ายกระจาดคว่ำที่เป็นสิ่งของคู่กับชาวนาไทย แต่ก็เป็นเพียงงอบธรรมดาที่ดูไม่มีความโดดเด่นมากนัก จึงมีแนวคิดในการสร้างสรรค์โดยการนำงอบมาทำเป็นช่อดอกไม้เป็นการเพิ่มเอกลักษณ์ สร้างความโดดเด่นให้แก่งอบของชาวไทย สร้างมูลค่าให้กับงอบ นอกจากการนำสวมใส่เพียงอย่างเดียวจากการบูรณาการนำความรู้ในห้องเรียนต่อยอดให้เกิดผลงานโดยมีการบูรณาการตามรายวิชานำองค์ความรู้ทั้งหมดประยุกต์ใช้เพื่อให้ มีความฝันมีความสอดคล้องกันทำให้เกิดการจัดนิทรรศการการแสดงผลงานในโครงการการนำเสนองานศิลปะประดิษฐ์ หลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์