กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด
หวังพัฒนาขีดความสามารถการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ หลังพบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยอุบัติการณ์ล่าสุดพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน ทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงาน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเกิดภาระค่าใช้จ่ายถึง 7 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์กลับยังไม่เพียงพอที่จะรองรับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง
ด้วยเหตุนี้ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ร่วมมือกับ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง" ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) สำหรับการตรวจวินิจฉัย ประเมินและร่วมรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อยกระดับการตรวจโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศริญญา ภูวนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า "โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด 18,922 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน โดยโรคหัวใจที่สำคัญมีดัวยกันหลายประเภท ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาการของโรคหัวใจ มีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ไปจนถึงอาการเหนื่อยหอบง่าย นอนราบแล้วอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่งช่วงกลางคืน เจ็บหน้าอกซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเป็นลมหมดสติที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นลมแดด หรือการยืนนาน หรืออาจถึงกับเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่มีอาการนำมาก่อนเลยก็ได้ อาจเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง"
เมื่อใครสักคนบอกว่าเป็น "โรคหัวใจ" ในทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากแพทย์จะไม่สามารถรักษา "โรคหัวใจ" ได้ถูกต้อง หากไม่รู้ว่าโรคหัวใจที่กล่าวนั้นคือโรคหัวใจประเภทไหน เนื่องจากการรักษาโรคหัวใจในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคหัวใจคือต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นโรคหัวใจประเภทไหน และรุนแรงระดับใด (มาก ปานกลาง น้อย เป็นต้น) และการวินิจฉัยดังกล่าวต้องมีความแม่นยำ เพราะอาจมีผลต่อชีวิตผู้ป่วยและการรักษาได้
"การซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจของแพทย์เป็นวิธีการนำมาซึ่งการวินิจฉัยโรคหัวใจที่ดี แต่บ่อยครั้งอาจไม่เพียงพอ ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมที่ละเอียดมากขึ้น ปัจจุบันมีการตรวจเพิ่มเติมทางด้านหัวใจหลายประเภท และมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมมากกว่าหนึ่งชนิด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือ EKG; การตรวจวิ่งสายพานหรือ Stress Test; การตรวจทางภาพถ่ายรังสีแบบธรรมดา จนถึง เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ CT scan cardiac MRI; การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ และการตรวจที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography)" ผศ.พญ.ศริญญา อธิบายเพิ่มเติม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจและ Noninvasive โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด และประธานชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย ภายใต้สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) นั้นเป็นการตรวจเพื่อดูหัวใจในขณะเคลื่อนไหวบีบตัวและคลายตัว โดยใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวน์ ซึ่งคลื่นเสียงดังกล่าวสามารถผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ สามารถดูหัวใจทุกส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ การบีบและการคลายตัวของหัวใจทั้งอวัยวะ การปิด-เปิดของลิ้นหัวใจ การตรวจลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การตรวจว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ โดยดูการขยับของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว หากขยับน้อยลงหรือผิดปกติบ่งว่ามีการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณนั้น หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น และยังสามารถคำนวณค่าความดันในห้องหัวใจแต่ละห้องได้โดยใช้สูตรคำนวณทางฟิสิกส์การแพทย์ โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงนี้ ถือว่าเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้โดยไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคหัวใจประเภทต่างๆ เพราะการวินิจฉัยที่แม่นยำย่อมนำมาซึ่งการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลลัพธ์ที่ดี"
วิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง หรือการทำเอคโค่หัวใจ คือ ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจโดยตะแคงซ้าย แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะใช้เจลทาบริเวณหัวตรวจซึ่งมีขนาดประมาณเท่ากับรีโมทเครื่องปรับอากาศและมีแหล่งกำเนิดอัลตราซาวด์ วางลงบนหน้าอกและสีข้างผู้ป่วยเลื่อนไปมา เพื่อสแกนตรวจดูโครงสร้างที่สำคัญของหัวใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อ ลิ้น และการไหลเวียนของเลือด โดยใช้เวลาประมาณ 15-40 นาทีขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโรคหัวใจนั้นๆ
การพัฒนาของการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง
ในอดีต การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจนี้ ทำได้เพียงหนึ่งมิติ คือเป็นเส้นของแต่ละโครงสร้างของหัวใจในแต่ละบรรทัด เคลื่อนที่ขึ้นลงตามจังหวะและการบีบตัวของหัวใจ ต่อมามีการพัฒนาเป็นแบบสองมิติ ทำให้สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของโครงสร้างต่างๆ ได้มากขึ้น ปัจจุบัน การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ สามารถทำได้แบบสามมิติ ทำให้เห็นพยาธิสภาพของหัวใจได้ละเอียดขึ้น เปรียบเสมือนสามารถผ่าเปิดหัวใจในแต่ละระนาบได้ตามที่ต้องการจะดู และสามารถหมุนหัวใจได้โดยรอบ 360 องศา เพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนความสัมพันธ์ต่ออวัยวะใกล้เคียง ได้แก่ เส้นเลือดต่างๆ หรือ หลอดอาหาร เป็นต้น ความสัมพันธ์ต่ออวัยวะใกล้เคียงนั้นมีความสำคัญมากในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ หรือผู้ป่วยซึ่งมีผนังกั้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด ที่ต้องได้รับการปิดรูรั่วนั้นๆ และเป็นข้อมูลสำหรับศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจในการวางแผนการผ่าตัดหรือหมอโรคหัวใจในการวางแผนการรักษาทางสายสวนต่างๆ ได้ถูกต้องและแม่นยำ
"การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือการทำเอคโค่ (Echo) แบบสามมิตินั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นแพทย์โรคหัวใจในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ดังกล่าวยังมีจำนวนน้อย ทางศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าว เราจึงร่วมกับฟิลิปส์ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง แห่งนี้ขึ้น เพื่อฝึกอบรมให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสเรียนรู้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง ได้ฝึกลงมือปฏิบัติจริง ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการตรวจวินิจฉัย และรองรับการฝึกอบรมการตรวจวินิจฉัยใหม่ๆ ในอนาคต สำหรับโปรแกรมการฝึกอบรมของศูนย์ฯ แห่งนี้ เราตั้งใจให้เป็นไปในลักษณะกลุ่มเล็ก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแชร์ประสบการณ์ ถาม-ตอบ ไปพร้อมๆ กับการบรรยาย การเรียนรู้การใช้โปรแกรมวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ และการลงมือปฎิบัติจริงได้มากที่สุด ซึ่งเราตั้งเป้าว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยได้ปีละ 30 คน และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจของประเทศไทยได้มากขึ้น นอกจากในประเทศไทยแล้ว ศูนย์ฯ แห่งนี้ยังรองรับการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยมีการจัดเป็นหลักสูตรการอบรมภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มีการจัดโปรแกรมอบรมนำร่องในปีที่ผ่านมา และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมอบรมเป็นอย่างดี" ผศ.พญ.สมนพร กล่าวปิดท้าย
นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วย ให้มีความสะดวกรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการนำแนวคิด ความต้องการ และฟีดแบ็คต่างๆ กลับไปพัฒนานวัตกรรมและการบริการของเราให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและคนไข้มากที่สุด ทำให้เรามีการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีศูนย์ฝึกอบรมให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้อัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยในวงการแพทย์ เราจึงได้จับมือกับศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะสถาบันโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศในการจัดตั้ง "Philips Ultrasound Academy หรือศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง" แห่งนี้ขึ้น ซึ่งศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์ฝึกอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย จะเน้นการฝึกอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแบบสามมิติ เราเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาวงการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น"
อายุรแพทย์หัวใจ แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดอายุรศาสตร์หัวใจ เจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาพคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ และผู้สนใจอื่นๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และดูตารางการอบรมเชิงปฏิบัติการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจสามมิติของ "Philips Ultrasound Academy" หรือศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง ได้ที่ ศูนย์โรคหัวใจ ชั้น 4 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือwww.chulacardiaccenter.org