กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
รายงานโดย วิจัยกรุงศรี
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ค่าแรงขั้นต่ำของไทยจะปรับขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีหรือนับจากปี 2556 ซึ่งมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 300 บาทต่อวัน ในปี 2561 ค่าแรงขั้นต่ำรายวันจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 308-330 บาท จาก 305-310 บาท ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.4 วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังค่อนข้างจำกัด ทั้งในแง่ต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ
วิจัยกรุงศรีกล่าวในรายงานผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเศรษฐกิจไทยว่า ในภาพรวมการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในแง่ของเวลา สาขาการผลิต และพื้นที่ หากพิจารณาจากส่วนต่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน (ผลผลิตต่อแรงงานหนึ่งหน่วย) กับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง จะพบว่าในช่วงก่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ 300 บาท การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง หรือส่วนต่างมีค่าเป็นลบ (รูปที่ 1) ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2560 ไตรมาส 3) ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าแรงที่แท้จริงหรือส่วนต่างมีค่าเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่ายังมีช่องว่างให้ปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากพิจารณาในแต่ละสาขาการผลิต พบว่าในปัจจุบันผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าแรงที่แท้จริงในทุกสาขาการผลิต สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ และหากประเมินในแง่ของพื้นที่ (รูปที่ 2) พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละจังหวัด ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จึงสะท้อนความสามารถด้านการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ที่เฉลี่ยร้อยละ 3.4 คาดว่าจะส่งผลให้ค่าจ้างของแรงงานในระดับอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยรวมแล้วจะทำให้ต้นทุนค่าแรงทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.1 และจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั้งประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสามารถจำแนกผลกระทบเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ผลกระทบทางตรงร้อยละ 0.13 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉพาะปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน ส่วนที่สองคือ ผลกระทบทางอ้อมร้อยละ 0.82 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตอื่นๆ หรือเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าแรงที่แฝงอยู่ในราคาสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตดังกล่าวคาดว่าจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคร้อยละ 0.62 ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบันให้ทยอยเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในช่วงกลางปีนี้
การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบ ค่าแรงขั้นต่ำของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นช้ากว่ากลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) โดยนับตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่นั้น ค่าแรงขั้นต่ำของไทย (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ต่างจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3-16 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวของค่าแรงในกลุ่มประเทศ CLMV ยังไม่สูงพอที่จะจูงใจให้เกิดการไหลออกของแรงงานต่างด้าว เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่อนข้างมาก (สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) อีกทั้งพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้แรงงานต่าวด้าวมีแนวโน้มทำงานในประเทศไทยต่อไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี หรือจนกว่าเมียนมาจะเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมในระยะแรก (ชาวเมียนมาที่ทำงานในไทยมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 70 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในไทย)
ภาคการผลิตบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มแรกคือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอยู่ปลายน้ำของสายพานการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบมากทั้งผลทางตรงและผลทางอ้อม (รูปที่ 3) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เป็นต้น กลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึงราวร้อยละ 40 โดยเฉพาะ SMEs ภาคเกษตรมีสัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงราวร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ทั้งโครงการช่วยเพิ่มผลิตภาพ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการให้ SMEs สามารถนำค่าจ้างรายวันไปหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.15 เท่า จึงคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือ SMEs ในช่วงของการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในระดับหนึ่ง
โดยสรุปแล้ว การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้อาจต้องระวังผลกระทบต่อภาคการผลิตบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่ม SMEs อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ภาพกว้างทั้งประเทศพบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อีกทั้งผลกระทบโดยรวมยังค่อนข้างจำกัดทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ต้นทุนการผลิตรวม และราคาสินค้าผู้บริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน คาดว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 1.0 จะส่งผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.31 และจะทำให้ต้นทุนของภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 ซึ่งจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคร้อยละ 0.18