กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทย โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,195 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มีนาคม 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยว่ากระแสละครบุพเพสันนิวาส ออเจ้า ตัวละครอย่างแม่หญิงการะเกดและพ่อหมื่นเดช ที่ทำให้เกิดกระแสคนไทยทั้งประเทศมีการแต่งกายชุดไทยหรือผ้าไทยไปทั้งประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยไปร่วมงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว ที่ส่งเสริมให้ผู้มาเที่ยวชมแต่งกายด้วยชุดไทย เพื่อให้เกิดการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมไทย ซึ่งในอดีตกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการปลุกกระแสให้คนไทยมีการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ที่นำผ้าไหมไทยมาทำเป็นชุดให้ผู้นำนานาชาติสวมใส่ และรัฐบาลประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยทุกวันศุกร์ แต่ไม่สามารถให้ประชาชนคนไทยร่วมกันแต่งกายชุดไทยหรือผ้าไทยได้เท่ากับในปัจจุบัน ซึ่งทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็น วันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น และเพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง ความคิดเห็นของประชาชนต่อการแต่งกายชุดไทยหรือผ้าไทย โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าวันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย ร้อยละ 45.9 อันดับที่สองคือไม่ใช่ ร้อยละ 39.3 และอันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.8
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยในรอบ 1 ปี ร้อยละ 52.7 อันดับที่สองคือไม่ใช่ ร้อยละ 32.6 อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 14.7 และอยากให้ประชาชนมีการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 58.2 อันดับที่สองคือไม่อยาก ร้อยละ 23.7 และอันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 18.1
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยจะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกในการร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยอันดีงาม ร้อยละ 68.2 อันดับที่สองคือไม่ใช่ ร้อยละ 19.7 และอันดับที่สามคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 12.1
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยจะช่วยส่งเสริมสินค้าของชุมชน ร้อยละ 63.8 อันดับที่สองคือไม่ใช่ ร้อยละ 17.5 อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 18.7 และคิดว่าการแต่งกายชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ร้อยละ 64.3 อันดับที่สองคือไม่ใช่ ร้อยละ 17.7 และอันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 18.0
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนมีกิจกรรมส่งเสริมการแต่งชุดไทยหรือชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทย ร้อยละ 61.2 อันดับที่สองคือไม่อยาก ร้อยละ 21.6 อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 และอยากให้หน่วยงานที่ท่านทำงานหรือศึกษาอยู่กำหนดให้มีชุดยูนิฟอร์มเป็นชุดไทยหรือชุดยูนิฟอร์มที่ตัดเย็บจากผ้าไทย ร้อยละ 58.4 อันดับที่สองคือไม่อยาก ร้อยละ 24.9 และอันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 16.7