กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
การสำรวจออนไลน์เพื่อเข้าใจถึงชีวิตทางเพศของเยาวชนชายรักชายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาเกี่ยวกับชีวิตทางเพศ และสุขภาวะของเยาวชนชายรักชาย และเยาวชนที่เป็นชายรักสองเพศ หรือไบเซ็กชวลในประเทศไทย รวมถึงที่ประเทศอื่น ๆ ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมศึกษาถึงผลกระทบของการติดเชื้อเอชไอวีในคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อรายใหม่นับหมื่นรายในแต่ละปี
การสำรวจนี้จะใช้วิธีเก็บข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ตอบ ซึ่งเป็นโครงการสำรวจ Pulse ในระดับภูมิภาค ที่เป็นทั้งงานวิจัย งานผลักดันด้านนโยบาย ซึ่งอำนวยการโดยมูลนิธิแอพคอม (APCOM) มูลนิธิที่ดำเนินงานด้านเอชไอวีและสิทธิของชุมชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวนี้ดำเนินงานเป็นภาคีร่วมกับองค์กรชุมชน นักวิจัย และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 5 เปอร์เซนต์จาก French Initiative on AIDS, Tuberculosis and Malaria ซึ่งดำเนินการโดย Expertise France ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศฝรั่งเศส แบบสำรวจออนไลน์นี้สามารถเข้าถึงได้ที่ www.pulseasiasurvey.org หรือทาง QR Code ด้านล่าง
เอชไอวียังคงเป็นภัยต่อสุขภาพของชายที่มีเพศสัมพันธ์ชายทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2563 ประชากรครึ่งหนึ่งจากจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 300,000 คน จะเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยในประเทศไทยนั้นการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสูงกว่าในกลุ่มประชากรอื่นๆ ถึง 10 เท่า และสำหรับสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครเป็นที่น่ากังวลมาก กล่าวคือจากการสำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ พบว่าประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายติดเชื้อเอชไอวีแล้ว นอกจากนี้ เยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอายุระหว่าง 15 – 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่นับหลายหมื่นคนทั่วภูมิภาคเอเชียในแต่ละปี โดยที่เยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมักขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านเอชไอวี ถุงยางอนามัย และบริการตรวจเลือด เยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคนทั่วภูมิภาคเอเชียยังไม่สามารถเข้าถึงบริการเอชไอวีด้านต่างๆ และยังมีความเสี่ยงเพิ่มจากการที่สามารถหาคู่นอนผ่านสื่อหาคู่ทางออนไลน์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเกี่ยวกับเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความไม่ชัดเจนเนื่องจากขาดข้อมูลทางระบาดวิทยาและทางพฤติกรรมที่มีคุณภาพและทันสมัย ในขณะที่วิถีชีวิตของเยาวชนรุ่นใหม่อยู่ในสังคมออนไลน์มากขึ้นแต่ชุดข้อมูลการเก็บข้อมูลการศึกษาของนักวิจัยไม่ได้รวมปัจจัยข้อเท็จจริงนี้เข้าไปพิจารณาด้วย ซึ่งทำให้เป็นข้อจำกัดประสิทธิผลของการดำเนินงานด้านเอชไอวีในกลุ่มเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะแผนงานที่ใช้การสื่อสารดิจิตอล
ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิแอพคอม นายภูมิศาสตร์ พูลเกษตรวัฒนา กล่าวว่า ในการที่ให้เกิดความก้าวหน้าในการลดการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายนั้น เราต้องเข้าใจถึงวิถีชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการมีคู่นอน การมีเพศสัมพันธ์ พฤติกรรมเสี่ยง ความรู้และการเข้าถึงบริการป้องกัน ตรวจเลือดและรักษาเอชไอวี และยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้สารเสพติด สุขภาพจิต และผลกระทบที่เกิดจากการถูกเลือกปฏิบัติและถูกรังแกล้อเลียน โครงการสำรวจ Pulseครอบคลุมในประเด็นเหล่านี้ และข้อมูลสำรวจดังกล่าวจะมีความสำคัญต่อการช่วยให้เราสามารถวางแผนการดำเนินงานเอชไอวีสำหรับกลุ่มเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย และรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้ด้วย
สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรภาคีของมูลนิธิแอพคอมในประเทศไทย โดยนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นายกิตตินันท์ ธรมธัช กล่าวว่า โครงการสำรวจ Pulse จะดำเนินการสำรวจแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งการเก็บข้อมูลนั้นจะรักษาความลับของผู้ให้ข้อมูลเป็นอย่างดียิ่ง และใช้เวลาในการทำแบบสำรวจประมาณ10 นาทีเท่านั้น และสมาคมฯ ยังมีการมอบเงินรางวัลเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนชายรักชายและเยาวชนชายรักสองเพศเข้าร่วมตอบแบบสำรวจดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสสำหรับเยาวชนชายรักชายและเยาวชนชายรักสองเพศในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางให้กับการจัดชุดบริการด้านสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งทำให้สามารถดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชนกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น ดังนั้น ทางสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยจึงขอเชิญชวนเยาวชนชายรักชายและเยาวชนชายรักสองเพศที่มีอายุระหว่าง 15 – 24 ปีร่วมตอบแบบสำรวจ และส่งต่อให้เพื่อน ๆ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้กับเอชไอวีได้อย่างแท้จริง
การสำรวจนี้ ทางมูลนิธิแอพคอมได้ร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือร่วมทำแบบสำรวจนี้สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์www.pulseasiasurvey.org หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่ info@rsat.info